“ตุ๊กตุ๊ก” รถเครื่องสามล้อไทย พัฒนาสู่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับธุรกิจไทย SME


ในปัจจุบันรัฐบาลไทยมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเภทกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะโดยสารสาธารณะที่นำมาใช้ในประเทศไทยกว่า 50-60 ปี โดยรถตุ๊กตุ๊กผลิตจากอุตสาหกรรมขนาด SME ในประเทศไทยทั้งอะไหล่ กระจังหน้า แชสซี กระบะ และตัวถังทั้งหมด แต่เครื่องยนต์เกียร์และเฟืองท้าย ส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนมือสองขนาดเล็กของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและเสียง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ดำเนินธุรกิจโดยคนไทยและมีกำลังการผลิต 1-5 คันต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณคนงาน ความต้องการทางการตลาด โดยศักยภาพด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์รถตุ๊กตุ๊กมีการใช้งานทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

การดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์ให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในโครงการของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศต่อไป รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบใช้งบประมาณ 350,000 บาท ระยะเวลาพัฒนา 1 ปี อุปสรรคของการผลิตรถตุ๊กตุ๊กใหม่คือปริมาณการผลิตยังน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายยังไม่อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นรถตุ๊กตุ๊กส่วนบุคคล และไม่สามารถจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊กสาธารณะใหม่เพิ่ม และต้นทุนสูงเนื่องจากเป็นชิ้นส่วนนำเข้าส่งผลให้ภาษีสูง ผู้ขับขี่รถตุ๊กตุ๊กส่วนใหญ่รายได้ต่ำขาดกำลังในการซื้อ

ผศ. ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมธุรกิจยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์ให้เป็นตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าว่า ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยพร้อมด้วยสมาชิกที่อยู่ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและไฟฟ้า ได้จัดทำต้นแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อเป็นแนวทางในการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กเครื่องยนต์ให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รวมไปถึงแผนธุรกิจที่สามารถต่อยอดไปเชิงพาณิชย์และการสร้างอาชีพ สนับสนุนเผยแพร่การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเพื่อประชาสัมพันธ์การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย

รถตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะโดยสารสาธารณะที่นำมาใช้ในประเทศไทยกว่า 50-60 ปี ในช่วงเริ่มต้นรถตุ๊กตุ๊กถูกนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีการใช้งานยาวนานเกินกว่า 10 ปี จำเป็นต้องมีการซ่อมเปลี่ยนใหม่ จึงทำให้มีอุตสาหกรรมไทยขนาด SME สร้างอะไหล่และสร้างตัวถังทั้งหมดเพื่อนำไปทดแทนรถตุ๊กตุ๊กนำเข้าที่เลิกผลิตไป และไม่มีอะไหล่ในประเทศจนได้เป็นรถตุ๊กตุ๊กที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยในปัจจุบัน ปัจจุบันชิ้นส่วนเครื่องยนต์เกียร์และเฟืองท้ายส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนมือสองขนาดเล็กของญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Daihatsu และ Suzuki ส่วนแชสซีและส่วนประกอบอื่นๆ ผลิตในประเทศ รถตุ๊กตุ๊กเดิมใช้เครื่องยนต์เบนซินมือสองจากญี่ปุ่น 2 กระบอกสูบ 2 จังหวะ ขนาด 350 CC และในปัจจุบันพัฒนามาเป็นเครื่องยนต์เบนซินระบบหัวฉีด 3 กระบอกสูบ 4 จังหวะ ขนาด 650 CC

“โดยส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิง LPG และในบางรุ่นจะใช้เชื้อเพลิง NGV การใช้เครื่องยนต์มือสองทำให้ขาดมาตรฐานทางด้านการควบคุมสิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมรถตุ๊กตุ๊กมักจะขาดมาตรฐานชิ้นส่วน การประกอบและการผลิต เนื่องจากแชสซีจะเปลี่ยนแปลงตามเครื่องยนต์เสมอ และอะไหล่ของเครื่องยนต์ส่วนใหญ่เป็นอะไหล่มือสองรถญี่ปุ่นที่นำเข้า และมักจะมีจำนวนและประเภทที่แตกต่างกัน” ผศ. ดร.ชนะ กล่าว

ผศ. ดร.ชนะ กล่าวต่อไปว่า รถตุ๊กตุ๊กไทยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวในมุมมองของชาวต่างชาติ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่ารถตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะรับจ้างที่มีราคาค่าโดยสารสูง และมีควันท่อไอเสียเสียงดัง ผู้ขับขี่ขับอันตราย แต่ในมุมมองของชาวต่างชาติเป็นพาหนะที่ต้องลองนั่งเป็นประสบการณ์ ในปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยมีการส่งออกไปต่างประเทศจำนวนหนึ่ง

การพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับธุรกิจ SME เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้วิธีการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กธรรมดาให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อต่อยอดทางด้านธุรกิจใหม่ เป็นพาหนะที่ปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ไม่มีควันท่อไอเสีย สามารถนำไปใช้เป็นรถส่วนบุคคลในการใช้งานในเมืองได้อีกด้วยแต่ก็ยังมีจุดด้อยในด้านสมรรถนะการทรงตัว และการใช้งาน รวมถึงการผลิตยังมีความจำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐในเรื่องการจดทะเบียนและมาตรฐานอุตสาหกรรม จะช่วยให้ SME พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงพาณิชย์ต่อไป

ลดต้นทุน ลดภาวะเรือนกระจก ด้วยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

ปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยส่วนใหญ่ใช้ LPG และ NGV เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน 2-3 สูบ ข้อเสียของเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ได้แก่

  • ประสิทธิภาพโดยรวมต่ำ โดยทั่วไปประสิทธิภาพเครื่องยนต์สันดาปภายในประมาณ 30-50%
  • ประสิทธิภาพโดยรวมต่ำและความสูญเสียทางสมรรถนะ เมื่อเครื่องยนต์ทำงานนอกช่วงกำลังจำเพาะและความเร็วถูกจำกัดในช่วงกำลัง
  • ความซับซ้อน โดยปกติมีชิ้นส่วนประมาณ 200 ชิ้น
  • ความจำเป็นในการบำรุงรักษา จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาตามระยะเวลา
  • มีมลภาวะ ฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยมาจากเครื่องสันดาปภายใน
  • ความปลอดภัย เครื่องยนต์สันดาปภายในจะร้อนมากระหว่างการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง แต่โลกเรายังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจก และมีหลายประเทศพยายามยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ดีเซล และหันมาพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

“ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังเคลื่อนที่ และใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์อื่นในยานยนต์ ดังนั้น ระยะทางการวิ่งของยานยนต์ขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดชนิดของแบตเตอรี่ รวมถึงน้ำหนักบรรทุก ข้อดีของยานยนต์ไฟฟ้า คือ มีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า การบำรุงรักษาที่ถูกกว่า ไม่มีการปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศและไม่มีเสียงดัง ยานยนต์ไฟฟ้ามีมาแล้วกว่า 100 ปี ในปี ค.ศ. 1900-1911 เป็นยุคทองของยานยนต์ไฟฟ้า ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานจากรถม้ามาเป็นรถไฟฟ้า และก็ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีการแข่งขันกับยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน จนในช่วงวิกฤตน้ำมันของโลกช่วงปี ค.ศ. 1973 ก็ได้มีบริษัทที่นำรถไฟฟ้ามาจำหน่ายอีก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในท้องตลาดเท่าไรนัก จน Toyota ได้เปิดตัวรุ่น Prius ที่เป็นเครื่องยนต์ไฮบริด และตามด้วย Nissan Leaf และอีกหลายรุ่น” ผศ. ดร.ชนะ กล่าวเพิ่มเติม

(อ่านต่อฉบับหน้า เรื่อง เส้นทางกว่า…จะมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า)


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ผศ. ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมธุรกิจยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save