ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 2 : มาตรฐานที่ต่างกัน


อย่างที่เกริ่นไว้ในตอน 1 ว่า “แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลาย ซึ่งจริงๆไม่ได้มีแค่เพียง PM2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย” แต่เรื่องนี้มันสำคัญต่อสุขภาพของเรามากกว่าที่จะทำตัวไม่รู้ไม่ชี้และปล่อยไปตามยถากรรม ตลอดจนต้องถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องเรียนรู้ในหลายๆสิ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่เข้าใจไปผิดๆ เพื่อลดปัญหาและขจัดดราม่าอันไม่พึงประสงค์ ดังนี้

ฝุ่น PM 2.5 มลพิษทางอากาศจากไอเสียรถยนต์

เรื่องแรก เรื่องนี้ว่าด้วยความรุนแรงของความเป็นพิษของสสาร สสารใดที่แสดงพิษได้อย่างเฉียบพลันทันที เช่นก๊าซโอโซน ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศก็ต้องเป็นแบบบังคับให้เป็นเช่นนั้นได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึง เราจะต้องกำหนดมาตรฐานเป็นรายเวลาในช่วงสั้นๆ เช่น เป็นรายชั่วโมง และในทุกชั่วโมงหนึ่งๆคุณภาพอากาศควรต้องได้รับการจัดการให้ได้ตามมาตรฐานนั้นตลอดเวลา ถ้าทำได้เช่นว่านี้ชาวบ้านประชาชนคนเดินถนนก็จะปลอดภัย แต่ถ้าเป็นสสารอื่นที่มีพิษเหมือนกัน แต่ไม่แสดงผลหรือผลกระทบอย่างปัจจุบันทันด่วน หากต้องสะสมไว้ในร่างกายนานๆ เป็นปีหรือหลายปี จึงจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือแสดงอาการป่วยอย่างเรื้อรัง แบบนี้มาตรฐานเขาก็จะกำหนดเป็นตัวเลขในระยะเวลายาวๆ ได้แก่ 1) เฉลี่ยรายวัน เช่นมาตรฐานสำหรับฝุ่นละออง หรือ 2) เฉลี่ยรายปี เช่น มาตรฐานของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) ส่วนผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นแบบกึ่งๆ คือ มีผลกระทบได้ทั้งสองแบบ (ดูรูปที่ 1)

ผลกระทบจากการสัมผัสฝุ่นจิ๋ว PM 2.5
รูปที่ 1 ผลกระทบจากการสัมผัสฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

เรื่องที่ 2 มาตรฐานของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1) มาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้อันตรายในลักษณะกึ่งเฉียบพลัน คือโดนปั๊บอันตรายปุ๊บ และกึ่งเรื้อรัง คือต้องได้รับไปนานๆจึงจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ กับ 2) มาตรฐานเฉลี่ยรายปี ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อันตรายในลักษณะที่ต้องได้รับสารติดต่อกันเป็นเวลานานๆหลายสิบปีจนเกิดเป็นโรคเรื้อรัง มาตรฐานของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ของแต่ละประเทศแม้จะเป็นของสารมลพิษตัวเดียวกันกลับมีค่าแตกต่างกันมาก (ดูตารางที่ 1) เช่นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของไทยคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียอยู่ที่ 35 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ในขณะที่ของอังกฤษกลับไม่ได้กำหนดค่านี้ไว้เลย ในทางตรงข้ามส่วนของอินเดียและบราซิลกำหนดค่าไว้สูงมาก คือ 60 และ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

ฝุ่น PM 2.5
หมายเหตุ : โปรดสังเกตว่าไม่มีมาตรฐานรายชั่วโมง ซึ่งแสดงว่าผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันทันด่วน ที่มา : ดูเอกสารอ้างอิง 2-17

คำถามคือทำไมถึงมีค่าแตกต่างกันได้มากเช่นนี้ เป็นเพราะปอดคนอินเดียซึ่งใช้มาตรฐานอะลุ้มอะล่วยมาก (60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แข็งแรงและทนสารมลพิษได้มากกว่าปอดคนไทย (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) หรือ? และปอดคนไทยทนสารมลพิษได้ดีกว่าของคนอเมริกา (35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) หรือออสเตรเลีย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)หรือ? หรือเป็นเพราะว่าสิทธิมนุษยชนของคนอเมริกาและคนออสเตรเลียมีมากกว่าของคนไทยและคนอินเดีย

ถ้าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ว่าเช่นนั้นจริง แล้วเราจะยอมได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกัน คนไทย คนอินเดีย ต่างก็เกิดมาเท่ากัน มีสิทธิพื้นฐานเท่ากัน แล้วทำไมต่างรัฐบาลจึงดูแลต่างกัน นี่ก็เป็นประเด็นที่มีคนเอาเรื่องนี้มากระทุ้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดราม่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เมื่อต้นปี 2561

สิ่งที่ผู้เขียนคิดและเชื่อ คือ บริบทของแต่ละประเทศมันแตกต่างกัน สภาพเศรษฐกิจสังคมมันก็ต่างกัน ความพร้อมทางเทคโนโลยีและการเงินรวมทั้งลักษณะนิสัยของคนในประเทศนั้นๆมันก็ต่างกันอีก จึงทำให้แต่ละประเทศกำหนดมาตรฐานขึ้นมาที่ค่าแตกต่างกัน จะว่าประเทศใดผิด ประเทศใดถูก ก็คงจะสรุปหรือมโนกันไม่ได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมกว่าไทยยังไม่มีแม้กระทั่งมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในขณะที่ไทยมีแล้ว จะว่าไทยล้ำหน้ากว่าอังกฤษก็คงไม่ใช่ เพราะแม้นมาตรฐานฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ของเราเข้มงวดกว่าเขาแต่คุณภาพอากาศของเราก็เลวกว่าค่ามาตรฐานกันมาทุกปีๆ

เรื่องของเรื่อง คือ เราเชื่อว่ามันยังไม่มีวิธีคิดวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานของโลก ความรู้ทางวิชาการยังมีไม่พอหรือยังลึกไม่พอที่ใครจะมาอ้างได้ว่าต้องเป็นวิธีนี้วิธีนั้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ต่างคนต่างประเทศจึงพากันคิดกันคนละอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของบ้านตัวเอง การที่จะเอาแค่เพียงตัวเลขมาเล่น มาวิจารณ์ มาดราม่า มันก็ทำให้สังคมสับสน และไม่เป็นผลดีต่อประเทศโดยรวมได้

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดในการเอาตัวเลขไปใช้ เรื่องนี้ชาวบ้านบางคนเอาตัวเลข PM2.5 ไปใช้อย่างผิดๆ แบบไม่เข้าใจในหลักการการกำหนดมาตรฐาน (ดูเรื่องแรก) โดยเอาค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง(ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นพิษเฉียบพลัน)ที่วัดได้ ซึ่งมีโอกาสได้ค่าทั้งสูงทั้งต่ำในเวลาต่างกัน เช่นกลางวันและกลางคืน หรือช่วงมีรถวิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนกับไม่มีรถวิ่ง ไปเทียบกับมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง(หรือเฉลี่ยรายวัน ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นพิษชนิดไม่เฉียบพลัน) โอกาสที่จะมีค่าที่ตรวจวัดได้(ในหนึ่งชั่วโมง)เกินมาตรฐาน(24 ชั่วโมง)ก็มีได้มาก แต่การเอาไปเปรียบเทียบกันเช่นที่ว่านั้นเป็นการดราม่าที่สรุปผิดในทางหลักคิดทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นคนละเรื่อง จะเห็นได้ว่า “เรา” ซึ่งหมายถึงทั่วโลกด้วย ไม่มีมาตรฐานฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นรายชั่วโมง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังมีการวัดค่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้เป็นรายชั่วโมงด้วยอยู่ดี ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเราจะใช้ค่าที่วัดได้เฉพาะชั่วโมงนั้นๆนี้ ไปเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือทางเดินหายใจ เป็นต้น แต่ห้ามเอาค่าที่วัดได้รายชั่วโมงนี้ไปเทียบกับมาตรฐานราย 24 ชั่วโมง เพราะนั่นมันคนละเรื่อง ชนิดห่างไกลกันคนละโยชน์

ได้ที่ https://github.com/LILCMU/cmu-cleanair1

บทความที่เกี่ยวข้อง


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 93 พฤษภาคม-มิถุนายน 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล, ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลอ้างอิง:
รูปที่ 1 สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา “ฝุ่น PM 2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม. กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561

เอกสารอ้างอิง:
(1) ขจรศักดิ์ แก้วขจร. “การพิทักษ์สุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 :ความร่วมมือของเครือข่าย.” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม., กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561.
(2) กรมควบคุมมลพิษ. “มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป.” มาตรฐานคุณภาพอากาศและเสียง.
http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_airsnd01.html (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561).
(3) European commission. “Air quality standards.” Environment.
http://ec.europa.eu/environment/air/quality/standards.htm (accessed March 2, 2018).
(4) United States Environmental Protection Agency: US EPA. “National ambient air quality standards.” Criteria air pollutants. https://www.epa.gov/criteria-air-pollutants/naaqs-table (accessed March 2, 2018).
(5) California Environmental Protection Agency. “California ambient air quality standards.” Ambient air quality standards. https://www.arb.ca.gov/research/aaqs/common-pollutants/pm/pm.htm (accessed March 2, 2018).
(6) Department for Environment Food & Rural affairs. “UK-Air.” Air information resources. https://uk-air.defra.gov.uk/ (accessed March 2, 2018).
(7) World Health Organization: WHO, 2006. “WHO Air Quality Guidelines for particulate matter, ozone, Nitrogen dioxide and Sulfur dioxide.” Global Update 2005. Summary of Risk Assessment. http://whqlibdoc.who.int/hq/2006/WHO_SDE_PHE_OEH_06.02_eng.pdf (accessed March 2, 2018).
(8) Australian government: Department of Environment and Energy. “Ambient air quality standards.” Air quality standards. http://www.environment.gov.au/protection/air-quality/air-quality-standards (accessed March 2, 2018).
(9) International Council on Clean Transportation and DieselNet. “National ambient air quality standards.” India: Air quality standards. https://www.transportpolicy.net/ standard/india-air-quality-standards/ (accessed March 2, 2018).
6
(10) International Council on Clean Transportation and DieselNet. “National ambient air quality standards.” China: Air quality standards. https://www.transportpolicy.net/standard/china-air-quality-standards/ (accessed March 2, 2018).
(11) National Environment Agency. “Singapore Ambient Air Quality Targets.” Air quality in Singapore. http://www.nea.gov.sg/anti-pollution-radiation-protection/air-pollution-control/air-quality-and-targets (accessed March 2, 2018).
(12) Department of Environment. “New Malaysia Ambient Air Quality Standards.” https://www.doe.gov.my/portalv1/wp-content/uploads/2013/01/Air-Quality-Standard-BI.pdf (accessed March 2, 2018).
(13) Clean Air Initiative for Asian Cities (CAI-Asia) Center. (2010) “Air Quality in Asia: Status and Trends.” http://cleanairasia.org/wp-content/uploads/portal/files/documents/ AQ_in_Asia.pdf (accessed March 2, 2018).
(14) International Council on Clean Transportation and DieselNet. “National ambient air quality standards.” Japan: Air quality standards. https://www.transportpolicy.net/ standard/japan-air-quality-standards/ accessed March 2, 2018).
(15) Xinhua. “Philippines sets air quality standard on PM2.5.” China.org.cn., April 2, 2013, under “Environment,” http://china.org.cn/environment/2013-04/02/content_28424841.htm (accessed March 2, 2018).
(16)International Council on Clean Transportation and DieselNet. “National ambient air quality standards.” Brazil: Air quality standards. https://www.transportpolicy.net/ standard/brazil-air-quality-standards/ (accessed March 2, 2018).
(17) Byeong-Uk Kim, Okgil Kim, Hyun Cheol Kim, and Soontae Kim. “Influence of fossil-fuel power plant emissions on the surface fine particulate matter in the Seoul Capital Area, South Korea.” Journal of the Air & Waste Management Association. Volume 66, 2016 – Issue 9: A Special Issue of JA&WMA on NOAA’s 7th International Workshop on Air Quality Forecasting Research (IWAQFR) https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/ 10962247.2016.1175392 (accessed March 2, 2018).


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save