พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด


พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ได้รับรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2018

IEEE Power & Energy Society – Thailand ได้จัดงาน IEEE PES Dinner Talk 2018 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มากล่าวเปิดงาน และแสดงปาฐกถาหัวข้อ “มุมมองภาพพลังงานในอนาคต” โดยภายในงานยังได้จัดให้มีเสวนา หัวข้อเรื่อง “Disruptive Technology for Thailand Grid and Energy Supplies of the Future : พลิกโฉมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต” และมีการมอบรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2018 ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf หนึ่งในผู้ผลิตพลังงานชั้นนำของประเทศไทย

พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ เล่าถึงการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันว่า “กัลฟ์” จัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ในปัจจุบัน เราบริหารและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง รวม 11,125.6 เมกะวัตต์ ในส่วนของแผนธุรกิจในปีนี้ จะมี 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว เราก็ต้องบริหารจัดการ ให้มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนที่สอง คือ โรงไฟฟ้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ในปี 2562 นี้จะมีโครงการที่เราก่อสร้างอยู่ที่เมืองไทยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 4 โครงการ และจะมีอีก 2 โครงการที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ส่วนที่สาม คือ โครงการใหม่ๆ ซึ่งจะต้องไปดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan หรือ PDP) ฉบับใหม่ ที่กำลังออกมาว่าจะเป็นอย่างไร จะให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรงไหน ซึ่งถ้าภาครัฐมีการเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม เราก็พร้อมที่จะเข้าไป

ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดในการบริหารองค์กรในเรื่องการบริหารองค์กร

ในส่วนของกัลฟ์เอง เราทำงานโครงการเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องของทีมเวิร์ค ที่ทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เพราะฉะนั้นการที่จะให้บริษัทเดินหน้าไปได้ ก็คือต้องทำให้องค์กรมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความยากจะอยู่ตรงที่การที่เรามีคนหลายเจเนอเรชั่นมาทำงานอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องบริหารให้เขาทำงานร่วมกันได้ ปัจจุบันนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานเยอะ การมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ตายตัว จะไม่สอดคล้องกับการบริหารงานในยุคใหม่ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ เราจะบริหารงานแบบให้มีความยืดหยุ่นได้ โดยจะดูกันที่ผลงานเป็นหลัก

ที่นี่เราอยู่กันอย่างพี่น้องมากกว่า เพราะว่าเราโตมาจากบริษัทเล็กๆ เราทำงานกันเหมือนพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แล้วก็คุยกันบ่อยๆ และสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ได้ก็คือเรื่องการทำงานเป็นทีม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะถ้าไม่มีทีมเวิร์คแล้วจะทำโครงการอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

รางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2018

มุมมองในด้านวิศวกรรมและธุรกิจพลังงานในอนาคต

ตอนนี้ทุกธุรกิจก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ในส่วนของธุรกิจพลังงานเองก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหลังๆ นี้ จะยากลำบากกว่าในช่วงต้น เพราะมีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงแรกๆ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีอาจจะเป็นไปค่อนข้างช้า การผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก โรงไฟฟ้าที่สร้างจะมีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง จึงมีผู้เล่นน้อย แต่ในช่วง 5-10 ปีหลัง เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเข้ามามากขึ้น เราก็ต้องปรับตัวให้ทัน เพราะนอกจากเรื่องของต้นทุนแล้ว ปัจจุบันเรามองในเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ถ้าดูตามแนวโน้มตามเทรนด์ของโลก ตอนนี้ทุกคนก็พยายามจะลดก๊าซคาร์บอนออกไซด์ ฉะนั้นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะเริ่มน้อยลง ในขณะที่พลังงานทางเลือก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลและสิ่งที่จะทำต่อไป

พรทิพา กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัล IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award ในครั้งนี้ว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ การเป็นผู้หญิงที่มาทำงานตรงนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเกินไป เพราะมีความเคยชินมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ในสมัยก่อนผู้หญิงที่อยู่ในแวดวงวิศวกรรมอาจจะน้อย ในรุ่นที่เรียนจบมา 200 คน มีผู้หญิงแค่ 7 คน ที่เลือกเรียนวิศวกรรมเพราะชอบคำนวณ ตอนนั้นคิดว่าหากเรียนวิศวฯ จะไม่ต้องท่องตำรามาก เพราะใช้การคำนวณมากกว่า ก็เลยคิดว่าเหมาะกับเรา เพราะฉะนั้นการที่ผู้หญิงได้มาอยู่ในธุรกิจนี้แล้วประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง และคิดว่าในอนาคตก็จะมีผู้หญิงขึ้นมาอยู่จุดนี้มากขึ้น

“ในส่วนที่เราอยู่ในธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค สิ่งที่พอจะทำได้ คือ การพยายามลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ก็จะมีกิจกรรม CSR ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเราตั้งอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆ กิจกรรมหลักๆ ที่เราสนับสนุนจะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและการศึกษา ช่วงหลังๆ มีกิจกรรมทางด้านกีฬาบ้าง ซึ่งเราจะเน้นให้ความรู้กับเยาวชนที่มีความสนใจทางด้านกีฬาฟุตบอล เพื่อที่จะให้เขามีทักษะ และอาจพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปได้” พรทิพา กล่าว


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ SPECIAL Interview โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save