“โซลาร์ภาคประชาชน” พลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์ …จากปี 2562 สู่ 10 ปี แห่งอนาคต


จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ 100 เมกะวัตต์ เริ่มปี พ.ศ. 2562 และต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 10 ปี กรอบแนวคิดดังกล่าว ถูกถ่ายทอดผ่านมายังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และส่งผ่านมายังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปสู่โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน

โซลาร์ภาคประชาชน

ผู้ใช้พลังงานประเภทครัวเรือนขนาดเล็กภายในประเทศจะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อใช้เอง (Self-Consumption) ก่อนนำส่วนที่เหลือใช้ส่งขายการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ภายใต้กรอบกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ที่ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี โดยมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

สาระสำคัญของระเบียบและประกาศ

  1. ผู้ยื่นต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ที่ระบุชื่อในใบแจ้งค่าใช้ไฟฟ้า ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ติดตั้งไม่เกิน 10 kWp ต่อครัวเรือน
  2. จะพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First Come, First Served)
  3. อัตรารับซื้อไฟฟ้ากำหนดไว้ไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ภายใต้อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี
  4. ผู้ยื่นต้องมีแบบแผงวงจรไฟฟ้า (Single Line Diagram) รวมทั้ง รายละเอียดอุปกรณ์ติดตั้งตามมาตรฐานที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนด โดยมีวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบประกอบวิชาชีพลงนามรับรอง
  5. ผู้ยื่นต้องมีรายการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาโดยมีวิศวกรโยธาที่มีใบประกอบวิชาชีพลงนามรับรอง (*เมื่อได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการแล้ว ให้ยื่นรายการคำนวณฯ แจ้งสำนักงานโยธาธิการในแต่ละท้องถิ่นเพื่อทราบ)
  6. ให้ผู้ยื่นลงทะเบียนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนออนไลน์ ผ่าน 2 ช่องทาง MEA : https://spv.mea.or.th, PEA : https://ppim.pea.co.th
  7. รอการแจ้งผลการพิจารณาตามลำดับการยื่นและความครบถ้วนของเอกสารจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผ่านทาง E-mail และเว็บไซต์ของการไฟฟ้า ตั้งแต่มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป
  8. เมื่อผ่านการพิจารณา ให้ชำระค่าใช้จ่ายและลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีค่าใช้จ่ายด้านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตลอดระยะเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี
  9. จากนั้นให้ยื่นขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้าต่อสำนักงาน กกพ. ผ่านระบบออนไลน์

โซลาร์ภาคประชาชน

โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี พ.ศ. 2562 เงินลงทุนประมาณ 30,000-50,000 บาทต่อ kWp ขนาดพื้นที่เริ่มต้นที่จะติดตั้งไม่น้อยกว่า 7 ตารางเมตรต่อ kWp

ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ คำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นดูจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเป็นหลัก เปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการและช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตนเองก่อน เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก ระยะเวลาในการคุ้มทุน ย่อมเร็วกว่า กล่าวคือ เน้นผลิตเองใช้เอง ก็เหมือนไม่ต้องซื้อไฟฟ้าได้ประหยัดค่าไฟประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย

สิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มโครงการการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย

อันดับแรก ควรออกแบบตัวอาคารบ้านพักอาศัยให้ใช้พลังงานน้อย ปรับปรุงอาคารให้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้ามาสู่ภายในให้น้อยที่สุด ทิศทางและปริมาณกระแสลมที่ไหลผ่านตัวอาคารต้องทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนภายในบ้านอย่างเหมาะสม เบื้องต้นสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น ติดตั้งฟิล์มกันความร้อนที่กระจก มู่ลี่ Shading ปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการปลูกต้นไม้เพื่อลดอุณหภูมิบริเวณอาคาร และเป็นการช่วยกรองอากาศและฝุ่น

อันดับสอง ติดตั้งและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดแสงสว่าง LED เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 HIGH EER

เมื่อพิจารณาดำเนินการดังรายละเอียดข้างต้นแล้ว จึงมุ่งเน้นไปที่ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตพลังงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในอาคารบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงานสำหรับโลกอนาคต ซึ่งในต่างประเทศการลงทุนลงเงินเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ในกรณีพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรก คือการเลือกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (High Energy Efficiency) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพลังงานในภาพรวมของประสิทธิภาพพลังงานสูงที่สุด (DSM) ลดการสูญเสียในระยะยาว

ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา โครงการโซลาร์ภาคประชาชน

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับผู้ยื่น

  • ผู้ยื่นต้องผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลัก
  • ผู้ยื่นควรมีความรู้เบื้องต้นในการบำรุงรักษา เพื่อการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
  • ผู้ยื่นต้องมีความเข้าใจในลักษณะการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ผู้ยื่นต้องมีโครงสร้างหลังคาที่แข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของแผงและน้ำหนักจากพนักงานที่ขึ้นไปซ่อมบำรุงได้
การติดตั้ง "โซลาร์ภาคประชาชน"
โซลาร์ภาคประชาชน – กรณีโหลดการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลากลางวันของบ้านอยู่อาศัย ประมาณ 4 กิโลวัตต์
ติดตั้ง Solar PV Rooftop 2-3 kWp ผลิตใช้เอง 100%
โซลาร์ภาคประชาชน – ติดตั้ง Solar PV Rooftop 2-3 kWp ผลิตใช้เอง 100%
ติดตั้ง Solar PV Rooftop 8 kWp ผลิตใช้เอง 50% ขายส่วนเกิน 50%
โซลาร์ภาคประชาชน – ติดตั้ง Solar PV Rooftop 8 kWp ผลิตใช้เอง 50% ขายส่วนเกิน 50%
ติดตั้ง Solar PV Rooftop 8 kWp ไม่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน
โซลาร์ภาคประชาชน – ติดตั้ง Solar PV Rooftop 8 kWp ไม่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน

การปรับใช้กับประเทศไทย

ในประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างดี แต่มีความหลากหลายด้านสภาวะแวดล้อม เช่น บริเวณที่มีแสงอาทิตย์อุณหภูมิสูง บริเวณที่มีความชื้นสูง บริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หนาแน่น จึงควรเลือกอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน และติดตั้งระบบป้องกันการเสื่อมถอยของอุปกรณ์และการถูกรุกรานจากสิ่งมีชีวิตในบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งจะเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคตด้วย

 


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 93 พฤษภาคม-มิถุนายน 2562 คอลัมน์ GREEN Focus
โดย นรินพร มาลาศรี ผู้ชำนาญการพิเศษฝ่ายแผนและกำกับการจัดหาพลังงาน สำนักงาน กกพ.


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save