เจาะลึก PDP 2018 : พลังงานทดแทนแพะบูชายัญ


Power Development Plan (PDP 2018) แผนแม่บทในการจัดหา พลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว ภายใต้เสาหลัก 3E คือ 1. Energy Security ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า 2. Economic ด้านเศรษฐกิจ 3. Environmental Friendly ด้านสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นหลักการที่ดูดี แต่ข้อสมมติฐานในใจของผู้กำหนด นโยบายยังคิดว่าพลังงานทดแทนเสมือนเป็นผู้ร้ายของแผ่นดิน เป็นส่วนที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงและเป็นส่วนเกินของแผน PDP ด้วยซ้ำไป ในประเทศพัฒนาแล้วการวางแผนด้านพลังงานจะคำนึงถึงพลังงานทดแทนในแผนแม่บทเป็นลำดับแรก และสัดส่วนที่ขาดอยู่จึงมาเพิ่มเติมด้วยการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล (ซากดึกดำบรรพ์) ในแผน PDP ใหม่นี้ RE ซึ่งกลายเป็น “แพะรับบาป แพะที่ถูกบูชายัญ” การรับซื้อไฟฟ้าที่เกินความจำเป็นในอดีต ถูกยกความผิดพลาดว่ามาจาก RE (Renewable Energy) เพื่อให้ผู้มีอ่านมองเห็นภาพ PDP 2018 ชัดเจนขึ้น ขอยกข้อเขียนของกูรูด้านพลังงานท่านหนึ่ง ซึ่งได้วิเคราะห์แผน PDP ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

แนวทางการดำเนินงานในการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่

แหล่งที่มา: การเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น (Open Forum) และการรับทราบข้อแนะนำเกี่ยวกับ PDP ฉบับใหม่

ในแผน PDP 2018 มีการพูดถึงระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง การให้ได้ไฟฟ้าที่มีความมั่นคงเชื่อถือได้ 41,800 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 77,211 เมกะวัตต์ โดยระบุว่ามีเป้าหมายของแผน AEDP2018 เป็นสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และพลังงานขั้นสุดท้าย ประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้า การผลิตความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ

ผู้เขียนขอพูดในมิติ การผลิตไฟฟ้าของแผน PDP 2018 เมื่อลองพิจารณาหลักการและวิธีคิดการจัดทำ PDP ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะเห็นว่าการจัดทำแผน PDP ของประเทศไทย จะมีการพิจารณาการเข้ามาของโรงไฟฟ้าตามค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forcast) โดยเริ่มต้นที่โรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่ตัวหลักจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน (ดังรูปกราฟ-ฐานกราฟ) ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจะถูกพิจารณาใส่เข้าแผนในลำดับถัดไป (ดังรูปกราฟ-ด้านบนกราฟแท่ง)

สำหรับกลุ่มประเทศที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก มองว่าการพิจารณาลำดับการสั่งการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะต้องได้รับเลือกเข้าระบบเป็นลำดับแรก และในลำดับถัดไป คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเข้าสู่ระบบส่วนที่เหลือ Residual Loads (Total Load หักลบ REFeed in) ซึ่งแน่นอนว่าการจะดำเนินการในลักษณะนี้ได้จะต้องมีระบบที่สามารถพยากรณ์ (RE Forecast) บริหารจัดการด้านการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการพลังงานอัตโนมัติและควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องสามารถปรับตัวเองให้ยืดหยุ่น สามารถปรับการเดินเครื่องและตอบสนองตามการสั่งจ่ายไฟฟ้าที่ต้องอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน และท้ายที่สุด โรงไฟฟ้าทุกประเภทจะต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

RE (Renewable Energy)

RE (Renewable Energy)

ที่มา: Capacity Building on Renewable Energy and Grid Intregration (CapREG): Virtual Classroom – “Flexibility options for power systems” 20 September, 2018, Berlin, Dr. Claudia Weise, VGB

RE (Renewable Energy)

สถานการณ์พลังงานของโลกจากข้อมูลของ IEA (International Energy Agency) ปี ค.ศ. 2017 พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศมีสัดส่วนที่สูง และพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย เดนมาร์ก และหลายประเทศทางยุโรป แม้ว่าประเทศทางฝั่งเอเชียจะมีสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 10% แต่พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกก็ได้นำเข้ามาพิจารณาร่วมด้วยในการผลิตไฟฟ้าในแผน PDP ของแต่ละประเทศอย่างชัดเจนมากขึ้นและต่อเนื่อง

RE (Renewable Energy)

แหล่งที่มา : IEA 2017

แผน PDP ฉบับใหม่ของประเทศไทยมีแนวทางการจัดทำแผนโดยพิจารณาศักยภาพพลังานหมุนเวียนรายภูมิภาค มีการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีการตอบรับซื้อแล้ว ในมุมมองผู้เขียนดูเหมือนการพิจารณาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนรายภาค อาจจะช่วยการบริหารแหล่งเชื้อเพลิงแยกตามภูมิภาคได้ และช่วยแก้ปัญหาการแข่งขันแย่งชิงเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนหรือปัญหาการเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนข้ามพื้นที่ แต่อาจจะไม่ใช่คำตอบที่นำไปสู่การตอบโจทย์การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก มีปัจจัยนอกเหนือจากนี้ที่ควรต้องคำนึงถึง อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกของชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้านชุมชนที่เกิดจากการ Synergy พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในชุมชน เพื่อให้ใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยนำเทคโนโลยีระบบไมโครกริด Micro Grid และระบบสมาร์ทกริด Smart Grid เข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชน การกระจายรายได้และสร้างความเจริญเติบโตในท้องถิ่นบรูณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและรักษาระบบไฟฟ้า เป็นปัจจัยที่สำคัญอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกและความเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

RE (Renewable Energy)

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงและยังไม่มีความชัดเจน คือ มาตรการสนับสนุนเงินลงทุนจากภาครัฐ เพื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกของชุมชน หรือมาตรการสนับสนุนด้านราคาไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้โครงการเกิดความคุ้มค่าน่าลงทุนและเกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ที่ปัจจุบันนโยบายภาครัฐยังคงเน้นให้ความสำคัญกับผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนเป็นหลัก ที่ให้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในลักษณะของ Feed-in-Tariff (FIT) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตไฟฟ้าระดับครัวเรือน ชุมชน หรือประชาชน ที่นโยบายยังขาดความชัดเจนและความต่อเนื่องในการดำเนินการ ทั้งที่การสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเป็นหนทางแห่งความยั่งยืนของการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างแท้จริง

“หลายครั้งผู้เขียนมักจะได้ยินคนพูดกันว่า ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้เหมือนต่างประเทศที่มี RE 100% โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนอยากให้ทำความเข้าใจความหมายใหม่ว่า RE100% อย่างเช่นในประเทศเยอรมนีมีจริง แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง และโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังคงมีความจำเป็นและต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

“ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์แผน PDP 2018”

ไม่ว่าแผน PDP 2018 เนื้อหาจะเป็นเช่นไร แต่ที่เหมือนกับฉบับที่ผ่านๆ มาก็คือเมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วมักจะไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า

  1. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ควรเป็นแบบราคาเดียวตลอดอายุสัมปทาน แต่ควรมีความยืดหยุ่นด้านราคาในการปรับขึ้นตามสถานการณ์เชื้อเพลิง
  2. โรงไฟฟ้าชุมชนต้องเป็นของชุมชนอย่างน้อย 80% และไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาร่วมทุน รัฐควรลงทุนด้วยการให้ PPA และสายส่งเท่านั้น
  3. รัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดรวมตัวและลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อเป็นการกระจายรายได้ มิฉะนั้นพลังงานทดแทนไทยในอนาคตจะอยู่ในมือบริษัทใหญ่ๆ และนักลงทุนต่างประเทศ… แล้วใครจะรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเราเท่ากับพวกเราดูแลกันเอง เราหวังว่าในอนาคตอันใกล้เมืองไทยจะมีบริษัทพัฒนาเมืองที่เกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ กระจายอยู่ทุกๆ จังหวัด

 


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 92 มีนาคม-เมษายน 2562 คอลัมน์ GREEN Focus โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save