PM 2.5 สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และหน้ากากอนามัย


ตั้งแต่เริ่ม ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เรื่องของสิ่งเล็กๆ อย่างฝุ่นกลับไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เมื่อ “ฝุ่น” สะสมอยู่ในอากาศรอบตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “PM 2.5” ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

PM 2.5 หรือ Particulate Matter 2.5 μm เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 20-30 เท่า และเนื่องจากขนาดของฝุ่นที่เล็กจึงทำให้ฝุ่นประเภทนี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 จะไม่สามารถเข้า ถึงปอดของมนุษย์ได้ แต่สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่านั้นจะสามารถสะสมในปอด หรือบางส่วนที่เล็กไปจนถึง PM 0.1 จะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด ดังนั้นฝุ่นเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด และมะเร็งหลากหลายชนิด โดยจากสถิติที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้สูงถึง 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรในประเทศจีนทั้งหมด ทั้งนี้แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อยู่ในกระบวนการต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เช่น การผลิตไฟฟ้า โรงงานกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา

การเปรียบเทียบขนาดของฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 ต่อขนาดเส้นผมมนุษย์และเม็ดทราย
การเปรียบเทียบขนาดของฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 ต่อขนาดเส้นผมมนุษย์และเม็ดทราย | ที่มา : United States Environmental Protection Agency-EPA

ในปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับสภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมตัวเมืองอย่างชะงัด การฉีดนํ้าหรือฝนก็ไม่สามารถบำบัดสภาวะอากาศเสียเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้เท่าใดนัก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 การสวม “หน้ากากอนามัย” เพื่อป้องกันฝุ่น เข้า สู่ร่างกายจึงเป็น การป้องกันส่วนบุคคลเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด

การเปรียบเทียบความสามารถในการเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ของฝุ่นขนาดต่างๆ
การเปรียบเทียบความสามารถในการเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ของฝุ่นขนาดต่างๆ | ที่มา : AFPRO Filters

หน้ากากอนามัยในท้องตลาดมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบหน้ากากอนามัยทั่วไป หน้ากากแบบป้องกัน PM 2.5 หรือหน้ากาก N95 เป็นต้น ความแตกต่างของหน้ากากเหล่านี้มี 2 ประเด็นหลักคือ ความสามารถในการกรองและปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรอง ตัวอย่างเช่น หน้ากาก N95 คือ หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นในอากาศได้มากกว่า 95% ตามมาตรฐานของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานของอเมริกา ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐาน FFP2 ของยุโรปที่กำหนดใหส้ ามารถกรองฝุน่ ในอากาศได้มากกว่า 94% และต้องมีปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองน้อยกว่า 8% เมื่อใส่อย่างถูกวิธี ซึ่งแตกต่างกับหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อกำหนดเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน

ผลงานวิจัยหนึ่งในประเทศอังกฤษที่ทำการทดลองประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM 2.5 ของหน้า กากประเภทต่างๆ จากฝุ่น ภูเขาไฟ ซึ่งมีขนาดครอบคลุมอยูในช่วง PM 2.5 พบว่าหน้ากากแบบ N95 มีเส้นใยที่สามารถกรองฝุ่น ขนาด PM 2.5 ได้ดีมากมีประสิทธิภาพสูงถึง 99.4% ในขณะที่หน้ากากอนามัยชนิดป้องกัน PM 2.5 ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น และหน้ากากอนามัยทั่วไปมีประสิทธิภาพรองลงมาที่ 98.4 และ 87.3% ตามลำดับโดยผ้าเช็ดหน้าและผ้าโพกหัวมีประสิทธิภาพในการกรองน้อยกว่าหน้ากากอนามัยแบบต่างๆ เป็นอย่างมากโดยสามารถกรองได้ไม่เกิน 25%

การคมนาคมและการก่อสร้าง ส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5
การคมนาคมและการก่อสร้าง ส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการชี้วัดประสิทธิภาพให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรต้องคำนึงถึงปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองของหน้ากากแต่ละชนิดด้วย เนื่องจากหน้ากากอนามัยแต่ละแบบมีความสามารถป้องกันการไหลเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านการกรอง ซึ่งเกิดจากช่องว่างระหว่างหน้ากากและหน้าของผู้สวมใส่แตกต่างกัน โดยหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปมีอากาศที่ไม่ผ่านการกรองเข้าสูงถึง 35% ในขณะที่หน้ากากแบบ PM 2.5 และหน้ากาก N95 มีอากาศที่ไม่ผ่านการกรองเข้ามาน้อยกว่าที่ 22% และ 9% ตามลำดับ ดังนั้นจากข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นการชี้ชัดว่า หน้ากากแบบ N95 เป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นมากที่สุด เนื่องจากประสิทธิภาพในการกรองสูงและปริมาณอากาศที่ไม่ผ่านการกรองไหลเข้าตํ่า แต่จากการที่อากาศสามารถไหลเข้าได้น้อยมากและเส้นใยที่หนา ทำให้ผู้สวมใส่อาจมีความลำบากในการหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้เป็นเวลานาน เมื่อเทียบกันแล้วหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปหรือแบบป้องกัน PM 2.5 มีความสามารถในการกรองรองลงมา และปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองสูงกว่า ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นโดยรวมตํ่ากว่า แต่อย่างไรก็ตามการใส่หน้ากากอนามัยเหล่านี้ไว้ย่อมดีกว่าการหายใจฝุ่นเข้าไปในระบบหายใจของเราโดยตรงอย่างแน่นอน

ประสิทธิภาพการกรองและอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรอง
ประสิทธิภาพการกรองและอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรอง | ที่มา : International Journal of Hygiene and Environmental Health 221 (2018) 967-976
ประสิทธิภาพการกรองของการซ้อนผ้าหลายชั้น
ประสิทธิภาพการกรองของการซ้อนผ้าหลายชั้น | ที่มา : International Journal of Hygiene and Environmental Health 221 (2018) 967-976
ประสิทธิภาพการกรองของการซ้อนผ้าเปียก
ประสิทธิภาพการกรองของการซ้อนผ้าเปียก | ที่มา : International Journal of Hygiene and Environmental Health 221 (2018) 967-976

นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังทดลองการนำผ้ามาซ้อนกันหลายๆ ชั้นและการทำให้ผ้าเปียก โดยพบว่า การนำผ้ามาซ้อนกันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองได้ในขณะที่การทำให้ผ้าเปียกไม่ได้มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการกรองดีขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพการกรองแย่ลงสำหรับผ้าบางชนิด ทั้งนี้ การใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าชนิดใดๆ ในการป้องกันจะมีอากาศภายนอกที่ไหลเข้ามาโดยไม่ผ่านการกรองไหลเข้ามาได้ง่าย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นลดลงจากเดิมเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่เหมาะสมมาใช้ในการป้องกันตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศยํ่าแย่

โดยทั่วไปปัญหาฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีของทุกๆ ปี ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายเพื่อลดการเกิดฝุ่น ในหลายๆ ประเทศได้ใช้นโยบายควบคุมคุณภาพรถยนต์เพื่อให้ลดการปล่อยฝุ่น รวมไปถึงวางนโยบายการควบคุมฝุ่นจากกิจกรรมอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง การผลิตไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ อันจะทำให้ปริมาณฝุ่นลดลง ซึ่งนโยบายเหล่านี้ทำสำเร็จแล้วในหลายๆ ประเทศและส่งผลให้ปริมาณฝุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในประเทศไทยก็อาจสามารถเริ่มต้นการลดฝุ่นได้ด้วยวิธีการที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเมื่อได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนก็จะทำให้ปัญหาเรื่อง “ฝุ่น” เล็กๆ กลับกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ได้อย่างแน่นอน


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล, กริชชาติ ว่องไวลิขิต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save