จับตามองนโยบายโซลาร์รูฟท็อปจากอดีตถึงปัจจุบัน


                ปัจจุบัน หน่วยงานทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมให้ความสนใจการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปเป็นอย่างมาก ด้วยแนวโน้มเทคโนโลยีระบบการผลิตโซลาร์เซลล์มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับเทคโนโลยีเหล่านั้นยังมีราคาที่ถูกลงมาก คุ้มค่าในการลงทุน และที่สำคัญพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ สามารถติดตั้งใช้งานในพื้นที่จำกัด เช่น บนหลังคาบ้านอยู่อาศัย อาคารสำนักงานและโรงงานต่างๆ

สำหรับประเทศไทยแล้ว ภาครัฐก็มีนโยบายในการสนับสนุนโซลาร์รูฟท็อป ภายใต้แผนบูรณาการด้านพลังงานระยะยาวของประเทศ (TIEB) ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนหลัก โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่ในแผน AEDP 2015 หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579  ซึ่งได้กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ของพลังงานขั้นสุดท้าย ในปี 2579 ในขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ 14.47% ทั้งนี้ในส่วนโดยพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนนั้น เป้าหมายอยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีโคตาที่ผลิตและจำหน่าย หรือมีการซื้อขายกันแล้ว ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

 

นโยบายด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินงานที่ผ่านมา

 

                ด้วยประเทศไทยมีการจัดทำข้อมูลแผนที่ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งค่าเฉลี่ยรังสีอาทิตย์ของประเทศไทยอยู่ที่ 18 เมกะจูล/ตารางเมตร/วัน หรือประมาณ 45 หน่วยไฟฟ้า/ตารางเมตร/วัน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และในภาคกลางจังหวัดลพบุรี เป็นต้น นอกจากนี้แล้วราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจาก International Renewable Energy Agency (IRENA) 2016 ระบุว่าราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2553 อยู่ที่ 3 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ในขณะที่ปี 2559 ราคากลับลดลงเป็น 0.5-0.7 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ดังนั้น จึงทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

ในอดีตตั้งแต่ปี 2536 ภาครัฐได้มีรูปแบบการสนับสนุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบ 100% ในพื้นที่ห่างไกล หรือในบริเวณที่สายส่งยังเข้าไปไม่ถึง การรูปแบบการสนับสนุน 100% นั้น เนื่องจากต้นทุนแผงยังมีราคาค่อนข้างแพง    ถัดมาในปี 2550 โครงการได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบ Adder อยู่ที่ 8 บาท ต่อมาในปี 2553 ราคาแผงลดลง จึงปรับ Adder ลงอยู่ที่ 6.50 บาทและในปี 2556 ครม. โดย กพช.ได้เห็นชอบโครงการเปลี่ยนจาก Adder เป็น Feed-in Tariff หรือ FiT เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนและภาครัฐ โดย FiT อยู่ที่ 5.66-6.85 บาท ทั้งนี้ค่า FiT ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับขนาดของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หากเป็นบ้านอาศัยขนาดเล็กก็จะได้ค่า FiT มาก ในขณะที่โรงงานและอาคารธุรกิจค่า FiT จะถูกกว่า จนกระทั่งได้มีการปรับลด FiT ลงมาเป็น 4.12 บาท และท้ายสุดจะมุ่งไปนโยบายโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โซลาร์รูฟท็อปแบบเสรี (Self-consumption)

ภายใต้โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบเสรี ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร หรือ Self-consumption เกิดขึ้นมาจากข้อเสนอโครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win) คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี พ.ศ. 2559 โดยเปิด Pilot Project รวม 100 เมกะวัตต์ ภายใต้ Self-consumption นั่นก็คือ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนก็ซื้อไฟฟ้าตามปกติ ทั้งนี้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านได้เองและขายไฟส่วนที่เหลือ เพียงแต่จะไม่ได้รับค่าไฟในที่ไหลเข้าสู่ระบบจำหน่าย (Gird) แต่จะได้รับการติดตั้งและตรวจสอบมิเตอร์ฟรี ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินการจะแบ่งเป็น กฟน. จำนวน 50 เมกะวัตต์ และ กฟภ. จำนวน 50 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนบ้านขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ จำนวน 20 เมกะวัตต์ ส่วนอาคารขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ จำนวน 80 เมกะวัตต์ 

                        หลังจากมีประกาศขยายเวลาเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าโครงการนำร่อง (Pilot Project) รายงานข้อมูลจาก กฟน. และ กฟภ. ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560 พบว่า สถานะการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อรวมทั้งสิ้น 180 ราย กำลังการผลิตรวม 5.63 เมกะวัตต์ โดย กฟน. 153 ราย กำลังการผลิต 3.93 เมกะวัตต์ และ กฟภ. 27 ราย กำลังการผลิต 1.70 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิเคราะห์โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบเสรีระยะขยายผล โดยได้เสนอ 2 แนวทางในการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอนาคต นั่นก็คือ Net Metering และ Net Billing ซึ่งตรงนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาดูว่าวิธีไหนที่เหมาะกับประเทศไทย ณ เวลานี้

 

นโยบาย โซลาร์รูฟท็อปในอนาคต มุ่งไปสู่การผลิตไฟฟ้าใช้เอง

 

                สำหรับโซลาร์รูฟท็อปนั้น ภาคนโยบายมุ่งไปที่การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟ Self-consumption ไฟฟ้าส่วนที่ใช้เอง มีมูลค่าเท่ากับค่าไฟฟ้าขายปลีกตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า และไฟฟ้าส่วนเกินขายให้การไฟฟ้า มีมิเตอร์เก็บข้อมูล นำมาหักลบหน่วยสำหรับการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบ kWh หรือ บาท

                หลังจากการประชุมกันหลายครั้ง ทิศทางจะส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟ Self-consumption เป็นแบบ Net Billing คำนวณตามรอบบิลรายเดือน ข้อดี คือ สามารถรับซื้อและกำหนดราคาไฟฟ้าส่วนเกิน การไฟฟ้าบริหารจัดการบัญชีได้ง่าย ตรวจวัดไฟไหลย้อนได้ หากมิเตอร์วัดไฟฟ้าเป็นแบบจานหมุนจะต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบดิจิทัลโดยมีบิลแสดงอย่างชัดเจนของมูลค่าการซื้อไฟฟ้าตามปกติ และมูลค่าการขายไฟฟ้าส่วนเกิน  ที่ผ่านมาได้นำเสนอ Net Billing เข้ามติ ครม.แล้ว และ ครม.เห็นชอบหลักการติดตั้งแบบ Net Billing

สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน จะพิจารณาจากสัดส่วนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าและการวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนโซลาร์รูฟไฟฟ้าส่วนที่ใช้เอง (Self-consumption) และไฟฟ้าส่วนเกิน (Excess) และราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บ้านอยู่อาศัย, อาคารหรือโรงงาน ขนาดติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ และบ้านอยู่อาศัย อาคารหรือโรงงาน ขนาดติดตั้งมากกว่า 1 เมกะวัตต์

ส่วนเรื่องการกำหนดเป้าหมายและปริมาณรับซื้อ เนื่องจากสอดคล้องกับแผน AEDP 2015 ที่กำหนดเป้าหมายการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ และยังสอดคล้องกับการศึกษาโครงการนำร่อง (Pilot Project) การศึกษาเชิงเทคนิค, ข้อจำกัดของ, Grid Code, Capacity ของสายส่ง ทำให้สามารถกำหนดโควตาและเป้าหมายได้ไม่มาก หากยังไม่มีการปรับเป้าหมายของแผน AEDP มากขึ้น ซึ่งนโยบายล่าสุดอาจจะมีการปรับแผนของ AEDP เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 40%

อย่างไรก็ตาม โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โซลาร์รูฟท็อปแบบเสรี (Self-consumption) ล่าสุด ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้หน่วยงานภาครัฐและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ทบทวนและพิจารณารายละเอียดและความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าในหลากหลายมิติ ข้อกำหนด รวมไปถึงข้อจำกัดต่างๆ เพื่อกลั่นกรองให้ละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ ว่ามีเหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร และเหตุใดต้องจำกัดโควตาการรับซื้อหากเป็นเสรี โดยทั้งนี้คาดว่าจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปได้ในปี 2561 เพียงแต่ตอนนี้ยังคงรอความชัดเจนจากภาครัฐ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save