กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คุมเข้มป้องกันโรงงานปล่อยมลพิษสร้างความเดือดร้อนชาวบ้าน ด้าน กรอ. เผยเตรียมพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน (Mobile Application) ตรวจเช็คการระบายมลพิษเป้าหมายกว่า 7,000 โรง สามารถทราบผลได้ทันทีแบบ Real time พร้อมดึงชุมชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวัง ติดตาม และกำกับดูแลโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ คาดสามารถเปิดตัว Mobile App และใช้งานได้ภายในปีนี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการมลพิษจากการประกอบกิจการในโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนรอบข้างจากมลพิษอากาศหรือปัญหากลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องมีการปรับปรุงทั้งทางด้านเทคนิคด้วยการสร้างอุปกรณ์บำบัดมลพิษให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยในปี 2564 กระทรวงฯได้จัดสรรงบประมาณให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ไปดำเนินการจัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและทางน้ำ โดยสั่งการให้กำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อยมลมพิษที่ส่งผลผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนในชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันให้ดึงประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข
ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารบนระบบสมาร์ทโฟนมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งมีความสามารถในการแสดงข้อมูลได้หลายรูปแบบ ดังนั้น กรอ.จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน (Mobile Application) เพื่อสื่อสารแสดงข้อมูลด้านการระบายมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยที่ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลสถานการณ์การระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) เสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง ติดตาม รับทราบการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมตลอดเวลา
“ระบบแอปพลิเคชันนี้จะแสดงข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ข้อมูลพื้นฐาน พิกัดที่ตั้งโรงงาน พื้นที่/สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณโดยรอบโรงงาน ประเภทการประกอบกิจการ ตลอดจนข้อมูลการระบายมลพิษโรงงาน ทั้งในรูปแบบที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และผลการตรวจวัดที่ กรอ. ดำเนินการตรวจกำกับดูแลล่าสุด เพื่อเสริมสร้างการรับรู้เข้าถึงข้อมูลด้านมลพิษโรงงานสู่ภาคประชาชนได้อย่างเปิดเผย สะดวกและรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ในการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงของการระบายมลพิษจากการประกอบกิจการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเช็คสถานะของการปล่อยมลพิษว่าเกินหรือไม่ ยังสามารถช่วยในการดูแลป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยอีกด้วย โดยขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาการวางระบบแอปพลิเคชันนี้ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมกับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 7,000 โรงงาน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวระบบแอปพลิเคชัน (Mobile Application) และใช้งานได้ภายในปี 2564” นายประกอบ วิวิธจินดา กล่าว
การพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน (Mobile Application) จะมีรูปแบบที่ใช้งานง่าย ตรงความต้องการของประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่สามารถกำกับดูแลโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสามารถแสดงข้อมูล ดังนี้
- แสดงจุดที่ตั้งของโรงงานเชิงพื้นที่ ในรัศมี 5 กิโลเมตร หรือแสดงในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จากจุดที่โทรศัพท์มือถืออยู่บนแผนที่พร้อมแสดงรายละเอียดประกอบต่าง ๆ เช่น ชื่อถนน สถานที่สำคัญต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียง ทำให้รับทราบว่าโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานที่บริเวณใด
- แสดงข้อมูลพื้นฐานโรงงาน ชื่อ ประเภทการประกอบกิจการ ทำให้ทราบว่าโรงงานนั้น ๆ ผลิตหรือประกอบกิจการอะไร และแสดงจุดที่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน หรือจุดกักเก็บน้ำ หรือจุดที่มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และจุดที่ตั้งปล่องระบาย
- แสดงสถานะการระบายสารมลพิษของรายโรงงานในขอบข่ายพื้นที่ที่กำหนด โดยถ้าเป็นโรงงานที่ติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (มลพิษน้ำทิ้งระบายออกนอกโรงงาน BOD/COD online , มลพิษอากาศจากปล่องระบาย CEMs) ก็จะแสดงข้อมูลการระบายมลพิษที่มีการตรวจวัด ณ เวลานั้น ๆ พร้อมสัญลักษณ์แสดงสถานะระดับการระบายมลพิษเมื่อเทียบกับมาตรฐาน ระดับปกติ ระดับเฝ้าระวัง และระดับเตือนภัย (หากเกินมาตรฐาน)
ทั้งนี้ ระบบจะช่วยในการตรวจกำกับดูแลการระบายมลพิษโรงงานเชิงพื้นที่ สามารถทำการสืบค้นข้อมูลรายโรงงานในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กำกับดูแลย้อนหลังได้จากระบบฐานข้อมูลมลพิษโรงงานของ กรอ. โดยระบบจะเชื่อมต่อเข้ากับระบบเตือนภัยมลพิษโรงงานหลักของ กรอ. ในการประเมินผลข้อมูลเชิงพื้นที่ เชิงประเภทการประกอบกิจการ และสภาพความสกปรกหรือระดับปริมาณการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม (Pollution Loading)
Source: กระทรวงอุตสาหกรรม