สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงาน CEO FORUM :Electricity R&I Challenges in the 21St Century “พลังงานไฟฟ้าก้าวไกล วิจัยนำไทยยั่งยืน”
การพัฒนาด้านพลังงานเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยกำหนดให้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานที่มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน และการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม แรงงาน ตลอดจนภาคประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการผลักดันงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การใช้พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาในด้านต่างๆ จำนวน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1: การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 2: การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3: การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรม
ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่จะต้องปฏิรูปงานวิจัย จะต้องผลักดันงานวิจัยลงจากหิ้ง เนื่องจากมีการลุงทนด้านงานวิจัยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งยังมีบุคลากร นักวิจัยกว่า 8-9 หมื่นคน แต่ขณะเดียวกันงานวิจัยทั้งหลายยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นักวิจัยกับผู้ที่จะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันเท่าที่ควร ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการปฏิรูปงานวิจัยที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้น คือให้ผู้วิจัยและผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมาเจอกัน โดยโจทย์การวิจัยต้องตั้งมาจากพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยเป็นสำคัญนอกจากนี้ พลังงานไฟฟ้าถือว่ามีความสำคัญทั้งเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันการไฟฟ้าแต่ละแห่งเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ที่รวบรวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงบุคลากร วิศวกรด้านพลังงานไฟฟ้า ฉะนั้น วช.ในฐานะรับผิดชอบด้านนโยบายและประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศ
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีการบริโภคสูงที่สุดเกือบ 50% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร จะมีการบริโภคไฟฟ้าสูงที่สุด ในขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ สัดส่วนการบริโภคน้อย เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่จะมีโรงไฟฟ้าภายในโรงงานอยู่ค่อนข้างเยอะ จึงใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าค่อนข้างต่ำ
การเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดียวของประเทศ โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้จ่ายไปยังทุกภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปยังผู้บริโภค และเมื่อเริ่มมี IPP, SPP และ VSPP เกิดขึ้น จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม
3 แนวโน้มของการพลิกโฉมระบบพลังงานไฟฟ้า คือ Digitalization การสื่อสารและการทำงานของระบบอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ Decentralization การกระจายอำนาจ เกิดการมีส่วนร่วมกันในระบบไฟฟ้ามากขึ้น และ Electrification การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ก็คือรถไฟฟ้า แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นค่อนข้างช้า แต่ในขณะที่จีนตั้งเป้าภายในปี ค.ศ. 2025 จะเป็นผู้ที่ผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนเรื่องโครงการสร้างพื้นฐาน รับรองการชาร์จรถไฟฟ้านั้น จะต้องเตรียมสถานีชาร์จรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมไประบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่จะเข้ามารองรับการใช้งานของระบบไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมมีการต่อยอดเพื่อรองรับการใช้งาน ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบดังกล่าวได้นั้น เรื่องของไอที โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI เทคโนโลยี Blockchain การซื้อขายโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรง นับเป็นการเร่งให้เกิดการกระจายศูนย์มากขึ้น
วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ.ให้ความสำคัญเรื่องของนวัตกรรม เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า ระบบส่ง เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถจ่ายไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสัดส่วนของต้นทุนต่ำ ในส่วนของระบบก็เช่นกัน การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้การส่งจ่ายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้โดรนเข้าไปตรวจสอบในโรงไฟฟ้า ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบ ลดค่าใช้จ่าย
อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นยุคของ EV มองว่าในอนาคตคงมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน บทบาทของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่จะก้าวเข้ามาในอนาคต ดังนั้น กฟผ.จึงร่วมกับ สวทช. สนับสนุนงานวิจัยในการพัฒนาต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าจากการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งความสำเร็จจากงานวิจัยในระยะที่ 1 เกิดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบจากการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว แต่ยังติดข้อจำกัดในบางส่วน ทำให้ดัดแปลงรถไฟฟ้าต้นแบบได้เฉพาะรุ่น แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ในระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าปี พ.ศ. 2563-2564 จะได้รถต้นแบบและพิมพ์เขียวออกมา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยังเป็นการช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“การวิจัยเป็นทางออก เริ่มตั้งแต่การศึกษาผลงานวิจัย การพัฒนาต่อยอด เพื่อให้รถในประเทศไทยสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า (EV) กฟผ.เองก็มีนโยบายและทิศทางที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศมีการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากันกับนวัตกรรมในอนาคตได้”
สมพงษ์ ปรีเปรม รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ผลงานวิจัยของ กฟภ. เน้นการตอบโจทย์เรื่องของการจ่ายพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่า 3 Input ที่จะนำไปสู่แนวทางอุตสาหกรรม คือ 1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก เทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า มีผลต่อรูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจของ กฟภ. 2.การตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า (Customers Needs & satisfaction) ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้านคุณภาพ พลังงานไฟฟ้า ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าในอนาคตประชาชนทุกคนน่าจะมีสิทธิ์ในกาพัฒนาประเทศ และ 3.นโยบายรัฐบาล นโยบายการเปิดเสรีพลังงานไฟฟ้า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการวางระบบการผลิต ส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ทั้งหมดนี้นำไปสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กฟภ.
“การพัฒนาคุณภาพบริการของ กฟภ. เพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้า รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต พัฒนาอุปกรณ์ในระบบไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ในระดับภูมิภาค”
ตัวอย่างงานวิจัยและนวัตกรรมของ กฟภ. ด้านการพัฒนาคุณภาพบริการ ได้แก่ PEA HiVE Platform ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในบ้านพักอาศัย เป็นระบบบการทำงานเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านและอาคาร และช่วยในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดย PEA Hive Platform เปรียบเสมือนตัวประสานให้ผู้อยู่อาศัย สามารถใช้ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านได้สะดวกสบายมากขึ้น ผ่านแอพพลิเคชั่น Home Connext ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ตามความต้องการ ช่วยประหยัดไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้
PEA Smart Plus แอพพลิเคชั่นชำระค่าไฟฟ้า และแจ้งขอใช้บริการ กฟภ. ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พัฒนาแอพพลิเคชั่น PEA Smart Plus เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟภ.ซึ่งมีกว่า 20 ล้านรายทั่วประเทศเข้าถึงบริการออนไลน์ครบวงจรในรูปแบบ One Touch Service “จัดให้ง่าย ได้ทุกเรื่อง” สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตด้วยตนเอง อำนวยความสะดวกผู้ใช้งานด้วยความรวดเร็ว โดยมีฟังก์ชันให้บริการที่หลาหลาย อาทิ การชำระค่าไฟฟ้า คำนวณและแจ้งเตือนค่าไฟฟ้า เมื่อใกล้ถึงกำหนดชำระ ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง ขอติดมิเตอร์ ติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์
Electric Vehicle & Charging Station การวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ศึกษาข้อมูลและทดลองยานยนต์ไฟฟ้า วิเคราะห์ผลกระทบของยานยนต์ไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (PEA VOLTA Platform) เพื่อรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 2 โครงการวิจัย คืิอ 1.โครงการสาธิตรถโดยสารไร้มลพิษสำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2.โครงการศึกษาเปรียบเทียบและแนวทางการส่งเสริมรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
PEA Solar Hero แอพพลิเคชั่นสำหรับเจ้าของบ้านอยากติดตั้ง Solar Rooftop PV วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อหาขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่เหมาะสมของระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลารรูฟท็อป เลือกรูปแบบการลงทุนในการติดตั้งระบบ โซลาร์รูฟท็อป ตามความต้องการในรูปแบบลงทุนเอง ผ่อนชำระ พันธมิตรร่วมลงทุน รวบรวมผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตติดตั้งและการบำรุงรักษา รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ลูกค้าได้เลือกตามความต้องการภายใต้มาตรฐานรองรับจาก PEA ติดตามขั้นตอนการดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป พร้อมให้คำแนะนำและบริการในการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ
กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน.มองการวิจัยและพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญ โดยมุ่งเป้าไปใน 5 ประเด็นหลัก คือ
1.Underground ระบบสายใต้ดิน สนับสนุนระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน
2.Smart Grid/Energy Efficiency ระบบจำหน่าย ความมั่นคง ความเชื่อถือได้ของระบบบไฟฟ้ากับการจ่ายไฟ
3.Innovation/Services การนำนวัตกรรมการใช้บริการต่างๆ นำเทคโนโลยีมาใช้
4.Electric Vehicle เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า
5. Reliability ความน่าเชื่อถือของระบบจ่ายไฟฟ้า
อย่างไรการจัดงานครั้งนี้ นับเป็นการสร้างโอกาสของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะได้ช่วยกันหาคำตอบให้กับการนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศอีกด้วย