ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 อักษรจัณ ไชยอนงค์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้าน
พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Forecast of rooftop
PV penetration in Bangkok, Thailand” ในการประชุมนานาชาติ The 41st IAEE International Conference ที่เมืองโกนินเกน
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.iaee.org/en/publications/proceedingsabstractpdf.aspx?id=15201
แผนพลังงานหมุนเวียน Alternative Energy Development Plan 2015-2036 (AEDP 2015-2036) กำหนดเป้าหมายให้มี
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 6,000 MW ภายในปี ค.ศ. 2036 (พ.ศ. 2579) และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้มีการติดตั้งแล้วประมาณ 3,211 MW ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) จึงยังคงเหลือที่ยังไม่ได้ติดตั้งอีกราว 2,800 MW และหากประเมินว่าจะมีการติดตั้งในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เท่าๆ กัน จะมีการติดตั้งแต่แผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นในพื้นที่ของแต่ละการไฟฟ้าอีก 1,400 MW จึงเป็นที่น่าสนใจว่าจะมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดโดยแผนพลังงานหมุนเวียนหรือไม่
ในการศึกษานี้ กำหนดสมมติฐานให้ผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5 kW และจากต้นทุนในการ
ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ อัตราค่าไฟฟ้า อัตราซื้อไฟฟ้ากลับคืนเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (2.73 บาทต่อหน่วย)
และลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร (รูปที่ 1) สามารถประเมินได้ว่าระยะเวลาคืนทุน (Payback period) ราว 9 ปีในงานวิจัยนี้ ได้ใช้ระยะเวลาคืนทุน (Payback period)ที่คำนวณได้เป็นตัวกำหนดจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (PV panel) สูงสุด ซึ่งคำนวณโดยใช้ Beck’s Equation (R.W. Beck, Inc., 2009, Distributed Renewable Energy Operating Impacts and Valuation Study) และประมาณติดตั้งในแต่ละปี (Penetration rate) ด้วย Bass Diffusion Model (Bass’s Basement Research Institute, “The Bass Model,” [Online]. Available: http://www.bassbasement.org/BassModel/Default.aspx. [Accessed 10 March 2018]) ตามขั้นตอนดำเนินการในรูปที่ 2
เมื่อรวมสมมติฐานว่าต้นทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเฉลี่ยปีละ 4% จะมีปริมาณการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์สะสมจนถึงปี ค.ศ. 2036 (พ.ศ. 2579) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Alternative Energy Development Plan) หรือ AEDP จำนวน 4,232 MW (รูปที่ 4) และจะมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดต่อปีในปี ค.ศ. 2032 (พ.ศ. 2575) จำนวน 452 MW (รูปที่ 3) ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนด