การประหยัดพลังงาน ยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับการลดต้นทุนการผลิตของกิจการ เราสามารถเริ่มทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยก็ได้ เช่น การเดินตรวจหาจุดรั่วไหลต่าง ๆ เพื่อเปิดปิดไฟแสงสว่างที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น จนกระทั่งทำแบบที่ต้องลงทุนสูงก็มี เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต หรือ เครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน ตลอดจนการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
แต่ไม่ว่าจะลงทุนมากน้อยเพียงใด ก็ต้องอาศัยการมี “ข้อมูลเบื้องต้น” ในมือ เพราะข้อมูลตัวเลขเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบและประเมินถึงรูปแบบการใช้พลังงานและการใช้มากน้อยของกิจการ จะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการประหยัดพลังงาน
เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวกับการใช้พลังงาน และให้ความสำคัญกับพนักงานผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่ควบคุมดูแลเครื่องจักรและเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการทำงานของเครื่องจักรอย่างถูกต้อง รวมถึงมีความสามารถในการสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ในขณะที่เครื่องทำงาน เพื่อป้องกันเครื่องเสียกลางคันและการชำรุดบกพร่องในอนาคต
การที่จะทราบว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่นั้นทำงานอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น วิศวกร หัวหน้างานและพนักงาน จะต้องทราบถึงวิธีการตรวจวิเคราะห์สมรรถณะของเครื่องจักรอุปกรณ์นั้น ๆ ทั้งด้วยตาเปล่า และด้วยการเปรียบเทียบผลจากการตรวจวิเคราะห์กับค่ามาตรฐานของเครื่องจักรแต่ละชนิด รวมถึงความสามารถในการนำเทคนิค “การบำรุงรักษาแบบทวีผล” หรือ “การบำรุงรักษาแบบป้องกัน” มาช่วย เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซ่อมบำรุงในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้อายุการใช้งานเครื่องจักรอุปกรณ์มีประสิทธิภาพยาวนาน
การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ (เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น) จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นทั้งในการปรับเปลี่ยน ทดแทน และการปรับปรุงแก้ไขจุดต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการด้วย หลังจากปรับปรุงแก้ไขแล้ว ปัญหาสำคัญจะอยู่ที่ความสามารถในการรักษาสภาพการทำงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีเสมอ
นอกจากนี้ การฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการปรับปรุงทางด้านพฤติกรรมของพนักงานก็มีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้พนักงานกลับไปใช้พฤติกรรมเดิม ๆ ที่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองต่อไปอีก
ด้วยเหตุที่เราทุกคนคือ “ผู้ใช้พลังงาน” ดังนั้นการประหยัดพลังงานไม่ใช่กิจกรรมที่สามารถทำได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในองค์การ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานและผู้บริหารทุกระดับจึงจะประสบความสำเร็จ
แต่ที่เป็นหลักประกันความสำเร็จก็คือ การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ใช่ทำ ๆ หยุด ๆ ครับผม !
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 98 มีนาคม-เมษายน 2563 คอลัมน์ Green Industry โดย ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี