ปลัดกระทรวงพลังงานเผยผลการหารือ ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand Long-Term Strategies on Climate Chang Mitigation) เพื่อวางแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สำหรับเข้าร่วมการประชุม COP26 ในช่วงปลายปี 2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน 6 ด้าน คาดว่าจะสามารถนำข้อมูลและแผนการดำเนินงานต่างๆ เสนอต่อรัฐบาลได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 นี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 กระทรวงพลังงาน นำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรมชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมองค์การระหว่างประเทศ และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand Long-Term Strategies on Climate Chang Mitigation) เพื่อวางแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สำหรับเข้าร่วมการประชุม COP26 ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งสหราชอาณาจักรและอิตาลีจะเป็นเจ้าภาพร่วม
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon 2. การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 3. การบริหารจัดการของเสีย ผ่านโมเดลบีซีจี 4. การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ 5. การมุ่งสู่ Zero Burn และ Smart Farming ผ่านโมเดลบีซีจี และเทคโนโลยีดิจิทัล 6. การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีไฮโดรเจน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำข้อมูล แผนการดำเนินการ และกำหนดเป้าหมายของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 เป้าหมายสำคัญ คือ 1. เป้าหมายของปีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระดับสูงสุด (peaking year) และ 2. เป้าหมายของปีที่ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ( net zero emission year) ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำข้อมูลและแผนการดำเนินงานต่างๆ เสนอต่อรัฐบาลได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 นี้
“ในการจัดทำแผนงานดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพหลักในด้านการปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนจะมุ่งเน้นเป้าหมายการสร้างความสมดุลของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงสอดประสานกับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดการปล่อยการเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว