ฟุตบอลจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ สู่เส้นทาง Make a CHANGE รักษ์โลก ด้วยแคมเปญ Waste This Way ลดขยะพลาสติก ปลื้มตัวเลขวัดผล “ลด เปลี่ยน แยก” 1วัน ลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้กว่า 18,000 กิโลกรัมคาร์บอน เทียบเท่าปลูกต้นไม้ กว่า 2,000 ต้น ลดขยะกว่า 2,000 ชิ้น ลดการฝังกลบ ถึง 72 % GC พร้อมพลิกโฉมขยะพลาสติกรีไซเคิลเป็นรองเท้ากีฬา กระเป๋า ส่งต่อเยาวชนที่ห่างไกล
การจัดงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องแนวคิดการจัดงาน ขบวนพาเหรด ที่สะท้อนแนวคิดสู่สังคมครบทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE “เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” เพื่อแสดงถึงความพร้อมและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ในการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ จากตัวเราเอง ไปสู่ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันเพื่อเป็นพลังสำคัญปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม จากแคมเปญ Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทาง ในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรผ่านแนวคิด “ลด เปลี่ยน แยก” โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ที่ได้ร่วมสนับสนุนให้เกิดขบวนการสร้างองค์ความรู้ผ่านคนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยแนวคิดเซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง (Circular Living) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามาใช้ในกิจกรรม
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ภายในงานมีการเน้นการนำภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นไบโอพลาสติกทางธรรมชาติย่อยสลายได้มาใช้ พร้อมกับการนำขยะพลาสติกที่รวบรวมได้ตลอดทั้งงานเข้าสู่ขบวนการอัพไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ตามแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ GC คาดหวังให้คนรุ่นใหม่ ที่ถือเป็นผู้นำทางความคิด พร้อมที่จะนำแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะลด เปลี่ยน แยก ไปต่อยอดแนวคิด เพื่อกระจายไปสู่กลุ่มคนในวงกว้าง ที่จะเข้าถึง เข้าใจ ในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขยะพลาสติก ที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ
“ภายหลังจากการจัดงานได้มีการรวบรวมตัวเลขและปริมาณขยะพลาสติกภายในงาน 1 วัน พบว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ถึง 18,121 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่า หรือเท่ากับปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น ซึ่งมีหลายวิธีในการทำกิจกรรมร่วมรักษ์โลกในครั้งนี้ ทั้งการลดจำนวนการใช้แก้วพลาสติก หรือ Single – use Plastic ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถึง 2,487 ชิ้น ทำให้ลดการนำขยะไปฝังกลบได้ 72% จากขยะที่มีถึง 4,995 กิโลกรัม และนำมาสู่วิธีการคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม ตามประเภทของขยะที่สามารถไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย เริ่มจากขยะรีไซเคิล/ ขยะแห้งและสะอาดนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล และเผาเป็นพลังงาน ขยะเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่า โดยนำไปผลิตเป็นรองเท้า และกระเป๋านักเรียน เพื่อมอบให้กับนักเรียนที่ห่างไกล และยังนำไปผลิตเป็นไม้เทียมเพื่อสร้างบ้านร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ส่วนขยะประเภทเศษอาหารสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย และขยะพลาสติกชีวภาพที่เปลี่ยนมาใช้กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพที่มีจำนวนถึง 8,880 ชิ้น สามารถนำไปฝังกลบ เพื่อสลายตัวเป็นปุ๋ย หรือใช้เป็นกระถางเพาะชำ ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและที่น่าสนใจไปกว่านั้น สตาฟเชียร์ภายในงาน 3,700 คน ใส่เสื้อทีมและหิ้วถุงยังชีพ ประมาณ 5,700 ใบ ที่ผลิตมาจากขยะขวดพลาสติก” นายคงกระพัน กล่าว
อย่างไรก็ตามงานนี้ถือว่าได้รับความร่วมมือจากนิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบันที่ให้ความสนใจและตื่นตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการลด เปลี่ยน และแยก ภาชนะพลาสติกได้อย่างเป็นอย่างดี พร้อมนำแนวคิดและวิธีการต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับสังคมเพื่อจุดประกายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและสามารถนำไปสร้างประโยชน์และนำกลับมาให้ใหม่ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการลดปัญหาการใช้ภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือ single-use