การประเมินวัฏจักรชีวิต : เครื่องมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรม


ช่วงนี้เราอาจได้ยินการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งกำลังเป็นที่กระแสที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเชื่อกันว่าเป็นแนวทางที่อุตสาหกรรมควรนำมาใช้เพื่อมาทดแทนระบบเศรษฐกิจเก่า ซึ่งมักเป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) เป็นระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างผลประกอบการทางธุรกิจโดยการนำทรัพยากรมาใช้เพื่อผลิตสินค้าไปสู่ผู้ใช้งานและเมื่อสินค้าหมดอายุก็จะถูกนำไปกำจัด หรือที่เรียกว่า “Take-Make-Dispose” ส่วนใหญ่มักจบลงที่การนำไปฝังกลบ แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากแรงบันดาลใจว่าเราจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม หรือทางธุรกิจอย่างไร ในขณะที่สามารถลดการใช้ทรัพยากรและผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยซึ่งแนวทางอาจไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของการลด (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อย่างที่อุตสาหกรรมเคยพยายามทำอยู่แล้วในอดีต

แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนในที่นี้จะหมายรวมไปถึงโมเดลธุรกิจแบบอื่นๆ ทั้งเรื่องของ (1) Circular Supply เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือทรัพยากรชีวภาพที่ย่อยสลายและสร้างใหม่ได้ (2) Resource Recovery เช่น การลดการสูญเสียวัตถุดิบและการหาทางนำกลับมาใช้ใหม่ (3) Product Life Extension เช่น การยืดอายุผลิตภัณฑ์โดยการซ่อมแซม การปรับปรุงคุณภาพไปจนถึงการนำกลับไปขายใหม่ (4) การสร้างแพลตฟอร์มของการแบ่งปัน (Sharing Platform) หรือการร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้งาน และ (5) Product as a Service เช่น การให้เช่าผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการใช้เป็นครั้งๆ โดยหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่กังวล เช่น ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและอาจไม่เพียงพอสำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมาก

แต่หลายคนเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าอะไรที่จะช่วยบอกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเรากำลังดำเนินการหรือจะดำเนินการนั้นมันยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรได้อย่างแท้จริง หรือการที่อุตสาหกรรมพยายามนำเสนอแนวทางการนำผลิตภัณฑ์มาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อต้องการปิดลูป (Closing the Loop) ไม่ต้องไปสู่การกำจัดโดยวิธีฝังกลบนั้นจะพอเพียงจริงหรือ? หรือจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แค่ไหนเมื่อเทียบกับแบบเดิม? ตัวอย่างเช่น หากบริษัทวางกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีการใช้วัสดุรีไซเคิลให้มากที่สุด แต่ผลที่ตามมาก็คือ อาจต้องแลกกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในเชิงอายุการใช้งานต้องลดลง หรือแม้แต่ผลกระทบอื่นที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานและน้ำในการรีไซเคิลวัสดุนั้นเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือแม้แต่การเก็บรวบรวมและขนส่งมากลับมาเพื่อการใช้ซ้ำ

ดังนั้นการปิดลูปอย่างเดียวโดยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาอาจไม่เพียงพอและไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้จึงขอนำเสนอถึงเครื่องมือหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปใช้คู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงเพื่อบ่งชี้ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของระบบการผลิตของอุตสาหกรรม ก็คือ “การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment)” หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “LCA

LCA: การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment)

LCA คือ กระบวนการประเมินหาขนาดของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ บริการหรือโมเดลทางธุรกิจ หรือก็คือการพิจารณาตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การแปรรูปวัตถุดิบ การผลิตจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ การนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดทำลายหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่ง LCA นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเครื่องมือด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกใช้มานานกว่า 20 ปี จนปัจจุบัน LCA ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกและถูกกำหนดเป็นมาตรฐานสากล ISO14040/44 Standards (International Organization for Standardization, 2006) ซึ่งอยากจะเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ LCA และความจำเป็นที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรต้องนำไปใช้ควบคู่กับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่พยายามในการใช้ประโยชน์จากชีวมวลที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยอาศัยแนวคิด “ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery)” กล่าวคือ การแปรรูปชีวมวลจากอ้อยไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ ไฟฟ้า ความร้อน หรือวัสดุ โดยเป็นหลักคิดเดียวกับโรงกลั่นนมันที่มีน้ำมันดิบเข้ามาเป็นวัตถุดิบแต่ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นหลายอย่าง ซึ่งกลุ่มวิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิต บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการศึกษาถึงรูปแบบของระบบไบโอรีไฟเนอรี่ของการนำใบอ้อยกลับไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตพลังงาน การนำน้ำกากส่าของโรงเอทานอลไปใช้งานร่วมกับกากหม้อกรองของโรงงานน้ำตาลเพื่อไปผลิตปุ๋ยและกลับไปใช้งานในไร่อ้อยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นแต่ต้องแลกกับการใช้พลังงานส่วนเพิ่มจากกิจกรรม เช่น การตัดอ้อยและเก็บใบอ้อยด้วยเครื่องจักร การขนส่งใบอ้อย การใช้พลังงานในช่วงการผลิตปุ๋ย และการขนส่งปุ๋ยกลับสู่ไร่ ดังนั้น LCA จึงถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบดังกล่าวกับแบบปกติที่ไม่ดำเนินการและมีการเผาใบอ้อยช่วงเก็บเกี่ยวเหมือนเดิม ซึ่งผลการประเมิน LCA ช่วยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนกว่าระบบไบโอรีไฟเนอรี่ดังกล่าวสามารถลดผลกระทบด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาวะความเป็นกรด ภาวะการเกิดโฟโตเคมิคอลออกซิเดชั่น และการเกิดฝุ่นละอองลงได้ร้อยละ 40-90 เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีปกติที่ไม่มีการดำเนินการ

LCA

ดังนั้น LCA จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถประเมินประสิทธิภาพความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของโมเดลธุรกิจหมุนเวียนที่กำลังจะพัฒนาขึ้นใหม่ว่าก่อนที่จะนำไปดำเนินการจริงว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หรือจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม เช่น การรีไซเคิล การใช้ซ้ำ หรือแม้แต่แนวทางการกำจัดซาก และด้วยจุดแข็งของ LCA ที่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่เกิดขึ้นทุกช่วงของวัฏจักรชีวิตทำให้เราสามารถวิเคราะห์เชิงลึกได้ถึงสาเหตุของปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงยังสามารถนำผลประเมินไปใช้ในการตั้งเป้าหมายและติดตามผลการปรับปรุงได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ปัจจุบัน LCA ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมในเรื่องอื่นๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสนับสนุนการทำ ISO14001 การจัดทำและการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ฉลากวอเตอร์ฟุตพรินต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะได้เห็นถึงความสำคัญของ LCA ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจึงควรต้องปรับกระบวนทัศน์และหาทางนำเครื่องมือ LCA ไปประยุกต์ใช้กับโมเดลธุรกิจของตนเองต่อไปในอนาคต


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคมคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ผศ. ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา JGSEE มจธ.

เอกสารอ้างอิง

  • Silalertruksa, T., Pongpat, P., Gheewala, S.H., 2017. Life cycle assessment for enhancing environmental sustainability of sugarcane biorefinery in Thailand, Journal of Cleaner Production, Vol. 140, Part 2, pp.906-913
  • Silalertruksa, T., Gheewala, S.H., 2019. Competitive use of sugarcane for food, fuel, and biochemical through the environmental and economic factors. The International Journal of Life Cycle Assessment. https://doi.org/10.1007/s11367-019-01664-0


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save