กระทรวงพลังงานเตรียมถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน วางแนวทางส่งเสริม ใช้ B10 หลัง JAMA ยืนยันรถยนต์สามารถใช้ได้หากไม่มีปัญหาทางเทคนิคจะดำเนินการได้ภายใน เม.ย.นี้ พร้อมเตรียมประกาศรุ่นรถกระบะใช้ B20 ได้เป็นครั้งแรก ด้าน กฟผ. เช่าคลัง เตรียมรับสต๊อก CPO แสนตัน เร่งป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสรุปแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในดีเซล เพื่อจำหน่ายเป็นไบโอดีเซลที่ปัจจุบันผสม 7% หรือ B7 เป็น 10% หรือ B10 โดยหากไม่มีปัญหาทางด้านเทคนิคใดๆ คาดว่าจะประกาศมาตรฐานน้ำมัน B10 ได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงาน เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มที่เริ่มล้นตลาด แก้ไขราคาผลปาล์มดิบตกต่ำ ปีนี้คาดว่าสต็อกน้ำมันปาล์มจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ราว 3 ล้านตัน
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว เกิดขึ้นหลังก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ บมจ.ปตท.ไปศึกษาร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับค่ายรถยนต์ และล่าสุดทางสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศ หรือ JAMA ได้ตอบยืนยันกลับมาว่ารถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบสามารถใช้ B10 ได้ แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของความบริสุทธิ์ของ B100 ที่หากมีไขมันปริมาณสูง อาจจะมีปัญหาต่อเครื่องยนต์ได้ ซึ่งเมืองไทยเป็นเมืองร้อนคงจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ก็จำเป็นต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรในประเด็นนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน สัปดาห์หน้ากรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะประกาศรุ่นรถยนต์กระบะที่สามารถใช้ B20 ได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์กระบะ (ปิคอัพ) ที่สามารถใช้ B20 ได้อีก 1-2% ซึ่งจะทำให้มีรถกระบะที่จะสามารถใช้ B20 เพิ่มมาในตลาดช่วยดูดซับ B20 มากขึ้น จากที่ปัจจุบันใช้ B20 1 ล้านลิตรต่อวัน และอนาคตวางเป้าหมายการใช้ที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน
นอกจากนี้ ในส่วนการรับซื้อน้ำมันปาล์มที่เหลือ 1 แสนตันจากเป้าหมาย 1.6 แสนตัน เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าบางปะกง ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยจากการดำเนินมาตรการต่างๆ จะเกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบรวมอยู่ที่ 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี โดยการใช้น้ำมัน B7 จะทำให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 1.4 ล้านตันต่อปี หากเพิ่มเป็น B10 จะเกิดการใช้เพิ่มขึ้นอีก 5-6 แสนตันต่อปี และหากใช้ B20 จะเกิดการใช้อยู่ที่ 6 แสนตัน ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาปาล์มสดให้กับเกษตรกรสูงขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ย 2.40-2.60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นอย่างน้อย 3 บาทต่อ กก.
Source: ภาพ กระทรวงพลังงาน FB: @ministryofenergy