รมว.พลังงานได้เปิดเผยรายงานประจำปี “Global Energy Transitions Index 2019” ของสภาเศรษฐกิจโลกหรือ WEF ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562 ว่า ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 51 ของโลก ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่อยู่อันดับที่ 54 จากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป และประชาชนมีส่วนร่วม ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และไทยได้ก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของประเทศมากขึ้น พร้อมรับการปรับตัวสู่พลังงานใหม่ในอนาคต
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว. พลังงาน เปิดเผยว่า สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF ได้เปิดตัวรายงานประจำปี “Global Energy Transitions Index 2019” ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ได้จัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตประจำปี 62 โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 51 ของโลก จากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก โดยขยับขึ้นมา 3 อันดับจากปีก่อนที่อยู่ที่อันดับที่ 54 เนื่องจากไทยตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนมีสวนร่วมในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและพร้อมรับการปรับตัวสู่พลังงานใหม่ในอนาคต โดยภูมิภาคอาเซียน ยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากร กฏหมายและการจัดการที่เป็นระบบมากกว่า ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีพื้นที่ของประเทศขนาดเล็กกว่าไทย จึงทำให้การจัดการทั่วถึงมากกว่า
“การจัดอันดับครั้งนี้ประเมินจากปัจจัยหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1] ด้านโครงสร้างด้านพลังงานโดยรวมของประเทศ 2] การลงทุนใหม่ๆ 3] ประสิทธิภาพของการกำกับดูแล 4] การเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านพลังงาน และ 5] การพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิงคโปร์เป็นเกาะ พื้นที่ไม่กว้างขวางการบริหารด้านพลังงานจึงครอบคลุมมากกว่า จึงสามารถเปิดให้มีการแข่งขันผลิตไฟฟ้าแบบเติร์ตปาร์ตี้ได้และให้ประชาชนเลือกใช้เองตามความพึงพอใจ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญอยู่มากจึงต้องมีหน่วยงานกลางผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งไปยังพื้นที่ดังกล่าวอยู่” นายศิริ กล่าว
ทั้งนี้เชื่อว่าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตของประเทศไทย หรือ PDP 2018 ฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้ลำดับของประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอีกแน่นอน เนื่องจากมีการเพิ่มความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับประชาชนมากขึ้น ทั้งการเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ภาคประชาชนน ที่ตามแผน 10 ปี จะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านพลังงานเพิ่ม จาก 0% เป็น 10% และการเพิ่มใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปลายแผน 20 ปี จะอยู่ที่ 30% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 14% ทั้งนี้แผนพีดีพียังกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่มั่นคง และการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศที่คงที่กว่า 60% ตลอดระยะเวลา 15%
นายโรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหาร WEF กล่าวว่า ชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นชาติที่มีความพร้อมในการปฎิบัติการดังพล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มแนวทางการกำหนดนโยบายพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ และการหาพันธมิตรความร่วมมือทางพลังงานซึ่งถือได้ว่าชาติในอาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่ดี ที่แสดงความเป็นผู้นำในการผลักดันกลยุทธ์ระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพได้
สำหรับรายงานประจำปี “Global Energy Transitions Index 2019” ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต 5 อันดับแรกปีนี้ ได้แก่ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน ไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น