เวียดนามเดินหน้าพัฒนา พลังงานทดแทน รองรับความต้องการพลังงานที่สูงขึ้น ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม


ในขณะที่พลังงานและเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังลดน้อยลง แนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนถือเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและคํ้าประกันความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะในเวียดนามที่ปัจจุบันกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ และจำนวนประชากรนับวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการจัดสรรไฟฟ้าตามความต้องการของประชาชนที่มากขึ้น

หนุนพลังงานทดแทนในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
จากงานสัมมนาสัปดาห์พลังงานทดแทนปี 2560 ในนครเกิ่นเทอ เห็นพ้องกันว่า จังหวัดต่างๆ ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงควรลงทุนในด้านพลังงานทดแทน แทนที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าความร้อน 14 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 20,000 MV

Nguyen Anh Tuan ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานทดแทน สังกัดสถาบันพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า เวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้สูงกว่า 9.1 ล้านเมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 15,000 เมกะวัตต์ พลังงานชีวภาพ 177,299 เมกะวัตต์ พลังงานทดแทน (WTE) 9,000 เมกะวัตต์ พลังงานลมเกือบ 2.1 ล้านเมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์เกือบ 6.8 ล้านเมกะวัตต์อย่างไรก็ตาม การผลิตพลังงานทดแทนยังไม่ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ เมื่อนับถึงช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา มีการใช้พลังงานลมเพียง 159 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์เพียง 0.18 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวภาพเพียง 2.5 เมกะวัตต์

ในปัจจุบันเวียดนามพึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงจากถ่านหิน โดยโรงงานในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 600 เมกะวัตต์ ถึง 2,000 เมกะวัตต์ แต่ปัญหาการขาดแคลนถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าความร้อนหลายแห่งจะต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ทั้งนี้ข้อตกลงการนำเข้าถ่านหินยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ในขณะที่การก่อสร้างท่าเรือสำหรับการนำเข้าถ่านหินก็ประสบปัญหาด้านการก่อสร้าง ราคาถ่านหินได้เพิ่มขึ้นจากตันละ 40 เหรียญสหรัฐ เป็นตันละ 60 เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น ตลอดจนมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่น่ากังวลอย่างมาก

เนื่องจากปัจจัยด้านลบดังกล่าว ทุกฝ่ายได้เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 7 เพื่อยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแห่งใหม่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ส่งเสริมโครงการพลังงานทดแทน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 จากการหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของเกาหลีใต้และเวียดนามเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนด้านไฟฟ้าและพลังงานทดแทนระหว่างสองประเทศ

Vo Tan Thanh รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม และประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมสาขานครโฮจิมินห์ กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามมุ่งพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน เพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานทดแทน และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ ข้างต้นจะสามารถพัฒนาระบบการจ่ายไฟฟ้าของประเทศเวียดนามให้ก้าวหน้าได้อย่างมาก

ที่สำคัญ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และบริษัท China Everbright International Limited (CEIL) ได้บรรลุข้อตกลงการกู้เงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

Christopher Thieme รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเอกชนของ ADB กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยปรับปรุงระบบกำจัดขยะมูลฝอยในเวียดนาม โดยจะลดการปล่อยแก๊สมีเทน และเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่ง ADB และบริษัท CEIL จะสนับสนุนการก่อสร้างและการดำเนินงานของโครงการพลังงานไฟฟ้าจากขยะ โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในจังหวัดต่างๆ บริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งตามข้อมูลของ ADB เวียดนามระบายขยะมากกว่า 27.8 ล้านตันต่อปี

พร้อมพัฒนา Smart Grid
รองรับพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 10 ในปี 2573
นอกจากการเตรียมใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงแล้ว เวียดนามยังเดินหน้าพัฒนา Smart Grid เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน
ร้อยละ 10 ในปี 2573

Nguyen Minh Quang เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญระบบไฟฟ้า แห่งศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติ ประเทศเวียดนาม (EVN National Load Dispatch Centre) ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า การเดินหน้าพัฒนา Smart Grid และทำไมประเทศเวียดนามไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในงาน Asian Utility 2016

 

 ระบบส่งไฟฟ้าของเวียดนาม
 ระบบส่งไฟฟ้าของเวียดนาม

 

แผนการพัฒนา Smart Grid ของเวียดนามนั้น แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มในช่วงปี 2555-2559 ซึ่งเป็นขั้นตอนการพัฒนาปรับปรุงเครือข่ายระบบส่งไฟฟ้า ส่วนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2560-2565 และระยะที่ 3 หลังจากปี 2565 จะเป็นขั้นตอนการพัฒนาระบบควบคุม ระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ การควบคุมระยะไกล รวมถึงการพัฒนาระบบสถานีไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ และการเตรียมพร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากที่จะเข้าสู่ระบบ

Nguyen ระบุว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความท้าทายในการดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ และมีความยั่งยืน ต้องมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และสร้างเครือข่ายระบบส่งให้สามารถจ่ายไฟฟ้า ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าให้เพียงพอ จึงเป็นที่มาให้เวียดนามออกแผนพัฒนาระบบ Smart Grid เพื่อบูรณาการนำระบบติดตามควบคุม และเทคโนโลยีสารสนเทศ มาปรับปรุงความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบ และ
เตรียมพร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากที่จะเข้าสู่ระบบในอนาคต

ปัจจุบันเวียดนามยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 100 เมกะวัตต์ ชีวมวล 150 เมกะวัตต์ ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนา โดยตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของเวียดนาม ตั้งเป้าให้ในปี 2573 มีกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 12,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 6,000 เมกะวัตต์ และชีวมวล 3,000 เมกะวัตต์

 

 

เป้าหมายสัดส่วนการใช้แหล่งพลังงานประเภทต่างๆ ผลิตไฟฟ้า ในปี 2573 ตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของเวียดนาม

 

แม้เวียดนามจะมีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนแต่เป็นไปไม่ได้ที่เวียดนามจะใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว 100% ยังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การซื้อไฟฟ้าจากประเทศอื่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save