“ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติม (Supplementary Agreement) ต่อจาก พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol–KP) ปี พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากพิธีสารเกียวโตนั้นมีข้อจำกัดไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของพิธีสารฯ ดังกล่าว

ความตกลงปารีส” นั้นมุ่งเน้นที่จะให้มีข้อตกลงใหม่นอกเหนือจากพิธีสารเกียวโต เพื่อให้มีผลผูกพันครอบคลุมประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก

ภายหลังจากการประชุม COP21 ในการประชุมครั้งถัดมา หรือ COP22 ได้มีการเปิดให้ลงนาม “ความตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 หลังมีประเทศภาคีร่วมให้สัตยาบันเกิน 55 ประเทศ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของโลก นับจากนั้นเป็นต้นมา มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมข้อตกลงนี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกร่วมลงนามในความตกลงปารีสแล้วทั้งสิ้น 197 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สาระสำคัญของความตกลงปารีส

ความตกลงปารีส” มุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ครอบคลุมในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โครงสร้างทางการเงิน (Climate Finance) กลไกการสร้างความโปร่งใส (Transparency) การทบทวนการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) และการให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยประเทศภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า Nationally Determined Contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี
โดยประเทศภาคี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มที่ 2 กลุ่มประเทศนอกกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ซึ่ง เป็นประเทศกำลังพัฒนา

“ความตกลงปารีส” กับสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกา ภายใต้การดำเนินการของคณะบริหารอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 26-28 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี พ.ศ. 2548 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 แต่ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้กฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ต้องหย่อนยาน และทรัมป์ ยังได้เป็นผู้สั่งการให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ถอนตัวอย่างเป็นทางการออกจาก “ความตกลงปารีส” นับตั้งแต่ข้อตกลงนี้ได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2558
ต่อมาในสมัย โจ ไบเดน หลังจากได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษ เมื่อ 20 มกราคม 2564 นำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีในความตกลงปารีสอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วนตามที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ โดยคาดว่าไบเดนจะสามารถผลักดันแผนเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2578 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2593

“ความตกลงปารีส” กับประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วม “ความตกลงปารีส” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564–2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021–2030 หรือ NDC Roadmap on Mitigation 2021–2030) ผ่านการดำเนินการในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

  • www.unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/the-paris-agreement/key-aspects-of-the-paris-agreement
  • www.nrdc.org/stories/paris-climate-agreement-everything-you-need-know#sec-whatis
  • www.thai-inter-org.mfa.go.th/th/page/ความตกลงปารีส?menu=5d847835517e9b159b5eba97
  • www.climate.onep.go.th/th/topic/policy-and-strategy/thailand-ndc-roadmap-on-mitigation/
  • www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/โจ-ไบเดน-นำสหรัฐฯ-กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส-paris-agreement-เพื่อแก้ปั-หาโลกร้อน-703
  • www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/สหรัฐอเมริกา-กลับสู่-ความตกลงปารีส-อย่างเป็นทางการ-440


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save