เปิดโลกธุรกิจ GC กับวิถี “Circular Living” องค์กรต้นแบบเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน


ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างตื่นตัวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและหลักการหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในการนำมาปฏิบัติในองค์กรคือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจใหม่ที่เน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบตามหลัก 5Rs ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Renewable) และการปฏิเสธการใช้ (Refuse)

ตัวอย่างธุรกิจแบรนด์ดังระดับโลกที่ได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาดำเนินธุรกิจ อาทิ Timberland แบรนด์รองเท้าชื่อดัง ที่มีไอเดียนำการใช้ยาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตรองเท้าและยางรถยนต์มาใช้อย่างคุ้มค่า โดยร่วมมือกับ Omni United บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ที่ออกแบบยางรถยนต์จากยางที่รีไซเคิลได้ เมื่อผ่านการใช้งานจนเสื่อมสภาพ ยางรถยนต์ทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานของ Timberland เพื่อนำมาผลิตเป็นพื้นรองเท้า ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวงจรชีวิตของยางได้อย่างคุ้มค่า

เปิดโลกธุรกิจ GC กับวิถี “Circular Living” องค์กรต้นแบบเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
UPCYCLING THE OCEANS

เช่นเดียวกับแบรนด์รองเท้ากีฬายอดนิยมอย่าง Adidas ที่ได้ร่วมมือกับ Parley for the Oceans องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูสภาพของท้องทะเล นำพลาสติกจากชายฝั่งทะเลมาออกแบบเป็นรองเท้าสำหรับวิ่ง อีกทั้งยังนำยางรถยนต์รีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของพื้นรองเท้าด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ คอลเลคชั่นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋าแฟชั่นจากขยะขวดพลาสติกในทะเลไทยจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ซึ่งร่วมมือโดย บ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยการส่งเสริมการเก็บขยะพลาสติกประเภทขวด PET และพลาสติกประเภท PE ในทะเลและชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋าที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคและรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย GC มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

“โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการบริหาร Circular Living ที่ GC มุ่งเน้นการเป็นต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืน โดย มีแนวทางในการบริหารจัดการ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารทรัพยากร (Resources) 2. การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) 3.การบริโภคและการนำไปใช้ (Consumption & Use) ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงและ 4.การบริหารจัดการขยะ (Waste Management) ” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าว

เขากล่าวอธิบายว่า การบริหารทรัพยากร (Resources) GC มุ่งลดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ การเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนมากขึ้น โดยริเริ่มพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (SWRO) โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้น้ำจืดจากภายนอกได้ถึง 7.23 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็นและการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งปี พ.ศ. 2561 บริษัทฯ สามารถใช้น้ำหมุนเวียนและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 8.08 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น

การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) GC ดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยยึดหลัก 5Rs (Reduce การลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่, Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้สารอันตรายด้วยการเลือกใช้สารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) อาทิ โครงการลดปริมาณของเสียอันตรายไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ 113 เกรดผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้ได้การรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และ 60 เกรดผลิตภัณฑ์ ได้รับการรับรองเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน เป็นต้น

ส่วนการบริโภคและการนำไปใช้ (Consumption & Use) GC ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทฯ ได้พัฒนาเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ(LDPE) เพื่อขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางที่ลดการใช้วัตถุดิบแต่ไม่ลดคุณภาพ รักษาคุณสมบัติเด่นด้านการทนความร้อน ความแข็งแรง และความใส ลดต้นทุนการผลิตกว่า 2 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ กว่า 140 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

การจัดการขยะ
Think Cycle Bank

การบริหารจัดการขยะ (Waste Management) บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง(Single Used Plastic) เช่น ถุงช็อปปิ้ง จำนวน 150,000 ตันต่อปี ให้เหลือ 0 ตันต่อปี ภายใน 5 ปี เพื่อมุ่งสู่ตลาดไบโอพลาสติก ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ รูปแบบต่าง ๆ การ Upcycling ด้วยการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดย GC ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายสถาบันในการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ อาทิ โครงการ Chula Zero Waste ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่หรือ BioPBS มาผลิตเป็น แก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้100% มาใช้ในจุฬาฯ โครงการ Be Smart Be Green ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS ผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ GC ยังมุ่งดำเนินธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastic) โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงงานรีไซเคิล พลาสติกครบวงจรมาตรฐานสากลระดับโลก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง

MQDC คอนกรีต
MQDC คอนกรีต

ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทาง Circular Living ที่ GC ได้ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมหลายด้านซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทก้าวสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนแต่แนวเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นนวัตกรรม (Circular Innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุดอันจะนำมาซึ่งการมีทรัพยากรที่มั่งคั่งให้กับลูกหลานของเราในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save