ประเทศไทยมีการใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 40 ปี ก่อนปี พ.ศ. 2548 ปริมาณติดตั้งใช้งานสะสมราว 6 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (อ้างอิงข้อมูล สนพ.) กำหนดเป้าหมายปริมาณกำลังผลิตตามสัญญาสะสม 10 กิกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 ทั้งนี้กำลังผลิตติดตั้งสะสมราว 3 กิกะวัตต์ (ข้อมูล พพ. จนถึง พ.ศ.2561) ทิศทางเดียวกับทั่วโลกตามรายงานของ International Energy Agency (IEA-PVPS) ปริมาณการติดตั้งสะสมทั่วโลก 512.3 กิกะวัตต์ (ค.ศ.2018) เป็นสิ่งบ่งบอกถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย โดยรวมในช่วง 30 ปี มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 พันเท่า ทั้งนี้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยก็มีพัฒนาการไปตามการเติบโตของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซลล์หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ งานวิศวกรรมการออกแบบติดตั้งและการบำรุงรักษา การตลาดและด้านการเงินการลงทุน ต้องมีการปรับตัวทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้ทันและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทางด้านมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ก็เช่นเดียวกัน กระแสการเปลี่ยนแปลงของข้อกำหนดมาตรฐานระดับสากลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเทคโนโลยี การขยายตัวมากและการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้งาน รวมถึงประสบการณ์การใช้ยาวนานขึ้น ในอดีตระบบเซลล์แสงอาทิตย์มีการกำหนดมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติโดยหลากหลายหน่วยงานหลายประเทศ เช่น CENELEC (กลุ่มประเทศยุโรป) ANSI หรือ IEEE หรือ ASTM หรือ UL (สหรัฐอเมริกา) หรือ AS (ออสเตรเลีย) จนต่อมามีความพยายามร่วมกันให้มีการใช้มาตรฐานร่วมกัน หรือเรียกว่า Standard Harmonization เป็นมาตรฐาน IEC (International Electrotechnical Commission) ที่มีสมาชิกเป็นผู้แทนประเทศซึ่งประเทศไทยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสมาชิก จนปัจจุบันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์อื่น ก็ยกเลิกและประกาศเป็นมาตรฐานร่วม เช่น ยกเลิก UL1703 ใช้ UL/IEC61730 แทน ทั้งนี้ประเทศสมาชิกต่างนำไปประกาศใช้เป็นมาตรฐานระดับชาติในระดับเหมือนกันทุกประการ (identical) เช่น JIS (ญี่ปุ่น) รวมถึง มอก. ของไทยด้วย
สำหรับพัฒนาการด้านมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย เริ่มมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อนปี 2530 และต่อมากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช. หรือ สนพ. ในปัจจุบัน) ให้การสนับสนุน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำร่างมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้ มอก.1843-2542 และหลังจาก สมอ. แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ คณะที่ 1016 เมื่อปี 2549 ก็มีการทบทวนและประกาศใช้มาตรฐาน มอก. อีกหลายฉบับ รวมถึงการมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดมาตรฐาน IEC ในคณะกรรมการวิชาการ (IEC/TC82) ด้วย
ด้วยการสนับสนุนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับการลงทุนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (CSSC) ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มจธ.ให้การสนับสนุนบุคลากรและลงทุนอาคาร ตั้งแต่ปี 2548 จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถทดสอบรับรองแบบ (Type Approve Test) ครบทุกหัวข้อตาม IEC61215 และ IEC61646 มาตรฐานแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตามการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ ISO/IEC17025:2005 เมื่อปี 2555 และยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001:2008 และ ISO9001:2015 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ทาง พพ. และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในระยะต่อมา เพื่อให้ประเทศไทยคงความเป็นมาตรฐานและก้าวทันที่ต่อพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานที่รวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงมาตรฐานอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อการใช้งานแผงเซลล์แสงอาทิตย์อีกด้วย
Source: คอลัมน์ Green Article โดย เยาวณี แสงพงศานนท์ และ ดร.ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (CSSC) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)