ยอดใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนพีคทะลุ 30,000 เมกะวัตต์ รมว. พลังงาน ส่งโจทย์ให้ กกพ. ปรับโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ เพื่อส่งต่อรัฐบาลใหม่ รับมือ Disruptive technology ไฟฟ้าพีคเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน และซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต ด้าน กกพ. ตั้งอนุกรรมการฯ รวม 3 การไฟฟ้า เดินหน้าปรับโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ คาดเสร็จทันกันยายนนี้ พร้อมตั้งเป้าเริ่มใช้ได้ต้นปีหน้า
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมข้อมูลรายงานโครงสร้างบริหารค่าไฟให้กับรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากเดิม โครงสร้างค่าไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดจากผลของการ Discuptive technology เช่น การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้งานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยจากเดิมเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน ประมาณเวลา 14.00-15.00 น. เปลี่ยนเป็นช่วงกลางคืน ประมาณเวลา 20.00 น. ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างอัตราคาไฟฟ้าในอนาคต
ดังนั้น การจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ จึงต้องคำนึงถึงค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละช่วงเวลา และอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use : TOU Rate) รวมถึงเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าด้วย เพื่อรองรับโครงการไมโครกริด สมาร์ทกริด ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อปูทางสู่การเปิดตลาดเสรีซื้อขายไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต
ด้าน นายเสมอใจ ศุชสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีตัวแทนจาก กกพ. และ 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จได้ภายในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ และจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ได้ในช่วงต้นปี 2563
ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างใหม่นั้น คาดว่าจะไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า น่าจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ประกอบกับร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) หรือ พีดีพีฉบับใหม่ กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี อยู่ที่ 3.58 บาทต่อหน่วย