กรมชลฯ ศึกษา IEE โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จ.พังงา เพิ่มแหล่งน้ำใน 3 ตำบลบนพื้นที่ 6,350 ไร่ คาดก่อสร้างในปี’66


กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จังหวัดพังงา หลังพบโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและแนวทางแก้ปัญหาสู่แผนพัฒนาโครงการฯ ความจุ 6 ล้านลบ.ม. เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภคตลอดทั้งปี มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 6,350 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3 ตำบล ของอำเภอทับปุด ประกอบด้วย ตำบลทับปุด ตำบลบางเหรียง และตำบลโคกเจริญ คาดจัดทำ IEE แล้วเสร็จมกราคม 2565 เริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ.2566

เมื่อเร็วๆ นี้ เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการบริเวณฝายลำไตรมาศ ที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ โดยมีปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 15 ทีมบริษัทที่ปรึกษา ส่วนราชการและผู้นำชุมชน ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และรองประธานบริหารจัดการน้ำลำไตรมาศ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมงาน เพื่อรับฟังความก้าวหน้าของโครงการฯ

กรมชลฯ ศึกษา IEE สอดคล้องกับแนวทางของสผ.
พร้อมรวบรวมความเห็นประชาชนจัดทำรายงาน IEE

เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศมีการดำเนินงานสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2553 แต่จากการตรวจสอบข้อมูลแผนที่ พบว่า เนื่องจากพื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสูง ทางกรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) ในระหว่างการศึกษากรมชลประทานได้ดำเนินการขออนุญาตกรมป่าไม้ เพื่อเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญให้กับประชาชนในการใช้อุปโภค-บริโภค และเพาะปลูกสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี มีส่วนช่วยการส่งเสริมรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดพังงาในอนาคต

อ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ มีพื้นที่ราว 570 ไร่
ความจุสูงสุดกว่า 6 ล้าน ลบ.ม.
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ มีพื้นที่โครงการประมาณ 570 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ ชนิดเขื่อนดิน ประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนปิดเขาต่ำ โดยเขื่อนหลักมีสันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 407 เมตร สูง 37 เมตร และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ มีสันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 142 เมตร สูง 27 เมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำระดับต่ำสุด 5.73 ล้าน ลบ.ม. และระดับสูงสุด 6.11 ล้าน ลบ.ม. โครงการฯ จะส่งน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม เข้าสู่ระบบส่งน้ำเดิมที่ประกอบไปด้วย ฝายลำไตรมาศ และคลองส่งน้ำ 2 สาย คือ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และ คลองส่งน้ำสาย 1 ซ้าย-สายใหญ่ฝั่งซ้าย รวมทั้งมีการวางท่อส่งน้ำชลประทานเพิ่มเติมบริเวณตำบลทับปุด ความยาวประมาณ 2.4 ก.ม. พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหนองกก หมู่ 4 บ้านลุ่มเกรียบ ตำบลทับปุด เพื่อรองรับพื้นที่รับประโยชน์ใหม่

มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,350 ไร่
ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,200 ไร่ – ฤดูแล้ง 1,500 ไร่
นอกจากนี้ ยังวางท่อส่งน้ำอุปโภคใหม่ไปยังพื้นที่ตำบลบางเหรียง ระยะทางความยาว 2.9 ก.ม. พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มแรงดัน จำนวน 2 แห่ง ที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และบริเวณแยกทางเข้าวัดบางเหรียง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของชาวบ้านตำบลบางเหรียง 500 ครัวเรือน

หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 6,350 ไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,200 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 1,500 ไร่ ครอบคลุมในพื้นที่ ตำบลโคกเจริญ ตำบลทับปุด อำเภอทับปุด โดยประชาชนในพื้นที่ชลประทานสามารถทำเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งได้ตลอดทั้งปี และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบในการเพาะปลูกพืชเพิ่มเติม นอกเหนือจากปาล์มและยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ โดยในอนาคตสามารถปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ทุเรียน กาแฟ ฟ้าทะลายโจร รวมทั้งสนับสนุนน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค ครอบคลุม ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด ได้ประมาณ 50,000 ลบ.ม.ต่อปี

โครงการฯ เริ่มก่อสร้างในปี’66
ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี
เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า กรมชลประทานสำรวจรังวัดแบบก่อสร้าง 70-80% ในปีพ.ศ.2564 กรมชลประทานจะมาเปิดงานก่อน จากนั้นในปีพ.ศ.2565 จะจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ โดยทำถนนและทำบ้านพักเจ้าหน้าที่ ส่วนในปีพ.ศ.2566 เริ่มก่อสร้าง จากนั้นในปีพ.ศ.2567 จะเห็นภาพชัดเจน โครงการดังกล่าวคาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ในปีพ.ศ.2570 นำน้ำในอ่างเก็บน้ำเชื่อมกับคลองส่งน้ำของกรมชลประทาน บนพื้นที่ 6,350 ไร่ และวางท่อต่อให้ประชาชนในตำบลบางเหรียงได้นำน้ำไปใช้ ทั้งนี้ขอฝากให้กลุ่มผู้บริหารจัดการน้ำใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศช่วยกันพัฒนาและจัดการน้ำให้เกิดความยุติธรรม เข้มแข็ง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาต่อกัน และเป็นการยกระดับกลุ่มให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ผู้ได้รับผลกระทบ 60 ราย พื้นที่ทำกิน 78 แปลง
ล้วนเห็นความสำคัญของโครงการฯ

โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณค่าก่อสร้างไม่รวมค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ประมาณ 480 ล้านบาท ทั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จำนวน 60 ราย เป็นแปลงพื้นที่ทำกิน 78 แปลง และชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับกระทบเห็นความสำคัญในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในใช้ฤดูแล้ง ล้วนเห็นด้วยกับโครงการฯ

“โชคดีที่พี่น้องตำบลทับปุด บางเหรียง และมีผู้นำกลุ่มใช้น้ำที่เข้มแข็ง รวมทั้งผู้นำส่วนราชการ เช่น นายอำเภอ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน มีพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และมีการวางท่อผ่านบ้านชาวบ้าน โดยพี่น้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” เฉลิมเกียรติ กล่าว

อ่างเก็บน้ำช่วยให้ชาวบ้านปลูกทุเรียน กาแฟ พืชสมุนไพรได้
พร้อมเสนอให้กรมชลฯ เร่งสำรวจผลอาสิน

วิสุทธิ์ ทองเจิม กำนันตำบลบางเหรียง กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ทางกรมชลประทานได้เดินท่อไปยังหมู่ 1,2,3 และ4 ส่วนหมู่ 5 อยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งมีชาวบ้านตำบลบางเหรียงที่ได้รับประโยชน์ 500 ครัวเรือน ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยปลูกสวนปาล์มและยางพาราเป็นหลัก

มานะ สงวนพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านตำบลทับปุด และประธานชมรมผู้ใหญ่บ้านทับปุด กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 โดยโครงการดังกล่าว นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดพังงา การมีอ่างเก็บน้ำดังกล่าวแทนที่ชาวบ้านจะปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์ม ยางพารา เมื่อมีน้ำใช้ในการเกษตรสามารถปลูกทุเรียน กาแฟ โกโก้ รวมทั้งพืชสมุนไพร โดยส่วนตัวมั่นใจว่าโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน พร้อมกันนี้อยากเสนอให้กรมชลประทานเร่งสำรวจผลอาสิน ทั้งที่มีโฉนดหรือไม่มีโฉนด

ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการถนนใช้สัญจรไปมา
กรมชลฯ เตรียมแผนสร้างถนนรองรับ

ไพโรจน์ ชัยชนะ รองประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำลำไตรมาศ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย กล่าวว่า ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย มีข้อกังวลว่าประชาชนที่มีสวนอยู่เหนือเขื่อนจะสามารถลำเลียงสินค้าเกษตรได้อย่างไร เนื่องจากยังไม่ได้รับความแน่ชัดของโครงการก่อสร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มีคนในพื้นที่ว่างงานและได้ลงทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก จึงอยากเสนอให้นำแรงงานที่ตกงานและใช้เครื่องจักรในพื้นที่ ในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ตำบลบางเหรียงให้เป็นแลนด์มาร์ค เสนอให้พิจารณาถึงผู้มีส่วนได้เสียที่จะได้รับประโยชน์ สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่

สอดคล้องกับ อารี ณ นคร ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีส่วนได้เสีย ได้ฝากถึงกรมชลประทานให้มีการเวนคืนและย้ายผลอาสินให้แล้วเสร็จก่อนการสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีโครงการถนนรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้สัญจรไปมาได้

ในเรื่องนี้ เฉลิมเกียรติ ชี้แจงว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่บางส่วนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ กรมชลประทานมีแนวคิดที่สร้างถนนทดแทนเชื่อมอ่างเก็บน้ำ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งนำพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านที่ทำประมงน้ำจืด สามารถจับปลาไปบริโภคได้พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

กรมชลฯ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่
แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง – ป้องกันอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนและนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยจัดปฐมนิเทศโครงการ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลบตำบลทับปุด อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา มีผู้เข้าร่วมประชุม 139 ราย และจัดประชุมกลุ่มย่อย ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ณ ผู้เข้าร่วมประชุม 131 ราย ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 3 บ้านตีนวัด ตำบลโคกเจริญ อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา

ภายหลังจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้วเสร็จ ในเดือนมกราคม 2565 กรมชลประทานจะดำเนินการขอรับสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save