กรมชลฯ เร่งศึกษาฯ อาคารบังคับน้ำฯ 2 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำจันทบุรีแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร


กรมชลประทาน เร่งเดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม “อาคารบังคับน้ำฝายบ้านแตงเม” และ “อาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน” ในแม่น้ำจันทบุรีโดยด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ อำเภอมะขาม และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 12,380 ไร่

3 แผนหลักการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำจันทบุรี
ช่วยเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 409 ล้านลบ.ม.

จากยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจันทบุรี การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การบรรเทาอุทกภัย และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบกับ ผลการศึกษาศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การปรับปรุงอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ นำไปสู่การจัดทำแผนหลักในการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี ที่มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งในระดับลุ่มน้ำและระดับท้องถิ่น และมุ่งเน้นให้เป็นไปตามความต้องการและเป็นที่ยอมรับของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โดยแผนหลักในการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างโครงการอาคารบังคับน้ำ (ฝาย) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านแตงเม ฝายท่าหลวงบน และฝายบ้านปึก (กรมพัฒนาที่ดิน) และปรับปรุงฝายเดิมตามลำน้ำแม่น้ำจันทบุรีอีก 12 ฝาย 2.การพัฒนาโครงการท่อผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด 3 แนว ได้แก่ แนวผันน้ำตอนบน 1) โครงการแนวผันจากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวไปยังอ่างเก็บน้ำศาลทราย 2) แนวผันจากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวและอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำศาลทราย และแนวผันน้ำตอนล่าง คือ (3) แนวผันจากคลองวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำคลองโล่งโค่ง และ3.การพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 โครงการ

เมื่อดำเนินการตามแผนหลักโครงการระดับลุ่มน้ำ จะทำให้ในพื้นที่ศึกษาโครงการมีความจุเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 409 ล้านลบ.ม. สามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 280,376 ไร่ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 12,244 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการทั้งหมดแล้ว พบว่า โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนและสามารถดำเนินการได้เป็นลำดับที่ 1 และ 2 คือ โครงการฝายบ้านแตงเม และฝายท่าหลวงบน ตามลำดับ

กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า
โครงการฝายบ้านแตงเม – ฝายท่าหลวงบน

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามโครงการอาคารบังคับน้ำฝายบ้านแตงเม และโครงการอาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน จังหวัดจันทบุรี ว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำจันทบุรีตลอดหลายปีที่ผ่าน พบว่า ประชาชนและเกษตรกร มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน และมังคุด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้รับความเสียหาย

สร้างอาคารบังคับน้ำฝายบ้านแตงเมแทนฝายเดิม
เก็บกักน้ำได้ 2.53 ล้าน ลบ.ม


กรมชลประทานจึงได้ศึกษาวางโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวพบว่าฝายบ้านแตงเมเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กความสูงประมาณ 3.50 เมตร ปัจจุบันไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มศักยภาพของลำน้ำ ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นจึงต้องก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและฝายทดน้ำแทนฝายเดิมที่มีอยู่ โดยออกแบบให้เป็นฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3.00 เมตร พร้อมติดตั้งบานระบายแบบบานพับได้ขนาดความกว้าง ประมาณ 45 เมตร ความสูงของบานระบายแบบบานพับ 4.25 เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2.53 ล้าน ลบ.ม. โดยมีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ที่บ้านวังแซ้ม สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี แล้วส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำโดยตรง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่รับประโยชน์ด้วยระบบท่อส่งน้ำรับแรงดัน รวมความยาวท่อส่งน้ำประมาณ 9.91 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4,980 ไร่ ใน 7 หมู่บ้านของตำบลวังแซ้ม

สร้างอาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน
ความจุ 3.38 ล้านลบ.ม.

ขณะเดียวกันได้ออกแบบก่อสร้างอาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน เป็นการก่อสร้างฝายทดน้ำแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของฝายวังจะอ้าย โดยเป็นฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 เมตร พร้อมติดตั้งบานระบายแบบพับได้ ขนาดความกว้าง ประมาณ 50 เมตร ความสูงของบาน 4.45 เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 3.38 ล้านลบ.ม. โดยมีสถานีสูบน้ำบ้านท่าหลวงบนตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวงบน และสถานีสูบน้ำบ้านท่าหลวงล่างตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวงล่าง โดยสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำโดยตรงเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่รับประโยชน์ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาด้วยระบบท่อส่งน้ำรับแรงดัน รวมความยาวท่อส่งน้ำประมาณ 14.35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7,400 ไร่ ใน 8 หมู่บ้าน ของตำบลท่าหลวง และตำบลมะขาม

“กรมชลฯ วางแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในรูปแบบฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมติดตั้งบานระบายแบบบานพับได้ เพื่อเพิ่มระดับเก็บกักให้สูงขึ้นจากระดับสันฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากสามารถพับตัวบานระบายให้ขนานกับสันฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการน้ำต้นทุนและเพิ่มระยะทางเก็บกักน้ำให้มีความจุน้ำเพิ่มขึ้น” เฉลิมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เหมาะสม

สร้างฝายพร้อมช่วยกระจายน้ำให้ชาวบ้านสูบไปใช้
สร้างความมั่นคงทางน้ำ
เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า สวนผลไม้ใช้น้ำ 500 บ้านลบ.ม. ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนพลวงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอ่างเก็บน้ำวังโตนด ซึ่งเก็บกักน้ำได้ 300 ล้านลบม.และฝายบ้านแตงเม ซึ่งเก็บกักน้ำได้ 98 บ้านลบ.ม. ยังขาดน้ำอีก 100 บ้านลบ.ม. ในอนาคตจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 17 แห่ง ขณะนี้ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่า

ในส่วนของฝายท่าหลวงบน เป็นฝายแบบลมยาง อายุการใช้ยาวนาน 30 ปี หากสร้างแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้ 3-4 ล้านลบม. โดยกรมชลประทานจะช่วยกระจายน้ำ ด้วยการวางท่อเหล็กหรือท่อ TPE ให้เกษตรกรสูบไปใช้ในสวนทุเรียน เงาะและ มังคุด เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำ ซึ่งจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าสร้างฝายเพียงอย่างเดียว โดยใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท

คาดอาคารบังคับน้ำ 2 แห่งแล้วเสร็จในปี 2570


ปกครอง สุดใจนาค ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 6 รับผิดชอบพื้นที่ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด กล่าวว่า การสร้างฝายสามารถสร้างได้ โดยไม่ต้องจัดทำ EIA เนื่องจากไม่กระทบต่อสัตว์และป่าไม้มากมาย สำหรับฝายบ้านแตงเมพร้อมก่อสร้างในปีพ.ศ.2567-2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพราะมีงานระบบด้วยส่วนฝายท่าหลวงบนสำรวจเสร็จในปีพ.ศ.2565 และขออนุมัติงบประมาณจากกรมชลประทาน คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปีพ.ศ.2568 ในปีพ.ศ.2570 โครงการน่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบ


วิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี กล่าวว่า แม่น้ำจันทบุรีพยายามหาน้ำมากักเก็บในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งปกติจะได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนพลวง กรมชลประทานจึงดำเนินการก่อสร้างอาคารเก็บกักน้ำ และปรับปรุงฝายบ้านแตงเม และสร้างฝายท่าหลวงบนก่อน เพื่อหาน้ำต้นทุน รวมทั้งพัฒนาระบบกระจายน้ำ และสถานีสูบน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง

“ในวันที่ 12-13 ตุลาคมที่ผ่านมา แม่น้ำจันทบุรีมีปริมาณน้ำ 820 ล้านลบม./วินาที แต่น้ำไม่ท่วมตัวเมืองจันทบุรี เหมือนในปี พ.ศ.2542 ถึงแม้ว่าฝนจะตก แต่ก็ยังระบายน้ำได้ เพราะโชคดีที่มีคลองภักดีรำไพ โครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใช้สำหรับแก้ปัญหาอุทกภัยในชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรี ทำหน้าที่ระบายน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวลงสู่อ่าวไทย ทำให้น้ำไม่ท่วมตัวเมืองจันทบุรี” วิทวัฒน์ กล่าว

อาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน
ช่วยให้การจัดการน้ำเป็นระบบ

ดิลก บัวเกิด นายกเทศมนตรีตำบลมะขามเมืองใหม่ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน ทำให้เห็นถึงความยั่งยืนด้านการจัดการน้ำเป็นระบบ แสดงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้มั่นคงในอาชีพนอกจากการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องที่เกษตรกร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำจันทบุรีต้องสูบน้ำมาใช้ด้วย

มุมมองผู้นำชุมชนต่อโครงการฝายบ้านท่าหลวงบน
พร้อมฝากข้อเสนอแนะไปยังกรมชลประทาน

ศักดิ์ณรงค์ หัสคุณ กล่าวว่า ความต้องการน้ำเป็นปัจจัยหลักชาวบ้าน หากมีการใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น โซลาร์เซลล์ในส่วนของแนวท่อน้ำดิบ ทำให้ดูแลง่าย พร้อมทั้งเสนอให้พัฒนาอ่างน้ำหนองกะเพลิงให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้น้ำ และเกิดความเท่าเทียมกัน หากทำได้จะเกิดประโยชน์ทั้งตำบลมะขาม และตำบลท่าหลวง


ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ตำบลท่าหลวง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันพื้นที่ตำบลท่าหลวงมีผู้ใช้น้ำ 130 ราย โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองกะเพลิง พื้นที่ 500 ล้านไร่ ติดตั้งหัวสูบมอเตอร์ที่หนองกะเพลิง ในช่วงหน้าแล้งจะสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี โดยเริ่มสูบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกและบริโภค หากสร้างฝายท่าหลวงบน ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง

หากโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำแล้วเสร็จทั้ง 2 โครงการ จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ กว่า12,380ไร่ ประชาชนมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มั่นคงเพื่อใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอต่อความต้องการทั้งในด้านการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ รวมถึงช่วยลดปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ จังหวัดจันทบุรีได้อีกด้วยนอกจากนี้ยังสามารถยกระดับไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แหล่งประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save