ก.พลังงานปั้นต้นแบบ ไมโครกริดชุมชน จ.ลำพูน เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า


          กระทรวงพลังงาน จับมือสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) จัดทำต้นแบบไมโครกริดชุมชน ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง วางโครงข่ายไฟฟ้าของชุมชน และระบบสูบน้ำ ในพื้นที่ จ.ลำพูน ให้มีไฟฟ้าใช้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เริ่มจ่ายไฟเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

          ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก เป็นพื้นที่ที่ยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค โดยปัจจุบัน 99.72% มีระบบไฟฟ้าใช้ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7,000 ครัวเรือนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่การไฟฟ้าเข้าไปไม่ได้ ด้วยกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ และจากการสำรวจพบว่ามีประชาชนจำนวน 365 ครัวเรือนใน 3 ชุมชน อ.แม่ทา ได้แก่ ชุมชนบ้านปงผาง ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ เป็นชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และขาดแคลนระบบน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร
          ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ให้มีไฟฟ้าและน้ำใช้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเพียงพอ กระทรวงพลังงานโดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีความตั้งใจในการที่จะพัฒนารูปแบบไมโครกริดเพื่อจ่ายไฟให้กับพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยคาดหวังให้ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ 100% เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่ 7 คือ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ฉะนั้น จึงได้มอบหมายให้ สมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุรกันดาร ขยายผลตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการติดตั้งระบบต้นแบบไมโครกริดและวางระบบสายส่งไฟฟ้าชุมชนตามศักยภาพการใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และสำหรับการเกษตร เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
          โดยนำร่องในพื้นที่ 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ และชุมชนบ้านปงผาง ซึ่งเป็นชุมชนที่ขาดแคลนระบบไฟฟ้าและประปา ในแต่ละชุมชนทางโครงการฯ ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบบ Grid Interactive ขนาดกำลังติดตั้ง 102 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ขนาดความจุ 307.20 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเสริมด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล 40 กิโลวัตต์ พร้อมวางโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โคมไฟถนน และระบบสูบน้ำ ในแต่ละชุมชน ซึ่งช่วยให้ชุมชนจำนวน 365 ครัวเรือน มีไฟฟ้าและน้ำเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนั้น ยังร่วมกับชุมชนวางระบบบริหารจัดการรายได้เพื่อนำมาใช้ดูแลบำรุงรักษาระบบในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยทั้ง 3 ชุมชนดังกล่าวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ปีละประมาณ 420,000 หน่วย ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 90 ล้านบาท

          โครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง ถือเป็นต้นแบบการนำแบตเตอรี่ลิเทียม (Lithium Battery) มาใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่เหลว (FlowBattery) และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นต้นแบบไมโครกริดชุมชนที่มีความเสถียรภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ โดยชุมชนจะมีส่วนร่วมในการดึงไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนเข้าสู่ครัวเรือนแต่ละหลังผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าได้ไม่เกิน 500 วัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมน้อยที่สุด ดร.ทวารัฐ กล่าว
          สำหรับ 7,000 ครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น ทางกองทุนฯจะขยายผลไปยังครัวเรือนเหล่านั้น ซึ่งจะอยู่ใน 4 จังหวัด โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูง และพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้                                                                                                                      ขณะที่ ดำรงค์ จินะกาศ นายกเทศมนตรี ตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ และชุมชนบ้านปงผาง จำนวน 365 ครัวเรือน มีปัญหาขาดแคลนระบบไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าได้ ชาวบ้านจึงต้องจุดเทียนและจุดตะเกียงเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน การสัญจรค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีไฟถนน ดังนั้นการที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เข้ามาช่วยดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงให้ จะช่วยให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มระยะเวลาในการทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าในช่วงกลางคืน จากเดิมที่ทอผ้าได้ในช่วงเวลากลางวัน เป็นต้น และส่วนการคิดอัตราค่าไฟฟ้านั้น มติที่ประชุมทั้ง 3 ชุมชน ให้คิดค่าไฟฟ้าอยู่ในอัตราที่ 6 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ในแต่ละครัวเรือนจะสามารถใช้หลอดไฟ 2 หลอด พัดลม 1 ตัว และทีวี 1 เครื่อง ต่อครัวเรือน 

          ระบบไมโครกริด (Microgrid) คือ ระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage)
หรือแรงดันระดับกลาง (Medium Voltage) ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งได้มีการรวมระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก โหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยส่วนประกอบต่างๆ สามารถทำงานสอดประสานกันเปรียบเสมือนเป็นระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก (Maingrid) ระบบไมโครกริดสามารถแยกตัวเป็นอิสระ (Islanding) จากระบบหลักได้ในสภาวะฉุกเฉิน โดยหลักการสำคัญของการผลิตไฟฟ้าด้วยไมโครกริดคือการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตพลังงานให้พอดีกับความต้องการใช้พลังงานภายในไมโครกริด และใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักเพื่อเสริมความมั่นคงเท่านั้น                                                                                             ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าได้ถูกพัฒนาก้าวหน้าจนมีขนาดของระบบที่เล็กลง รวมถึงราคาของระบบก็ลดลงต่ำกว่าในอดีต ส่งผลให้แหล่งผลิตไฟฟ้ามีลักษณะกระจายตัวมากขึ้น (Distributed Generation: DG) และทำให้สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กด้วย ระบบไมโครกริดทำให้มีผู้ใช้ไฟฟ้ามีอิสระที่จะเลือกตำแหน่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าให้ใกล้กับความต้องการใช้พลังงานความร้อน ทำให้สามารถนำความร้อนเหลือทิ้งจากระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กนี้ไปใช้งานได้โดยตรง (Combined Heat and Power: CHP) ส่งผลให้สามารถใช้พลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ใช้ทั้งผลิตไฟฟ้าและนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย นอกจากนี้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ระบบไมโครกริดแบบดั้งเดิมสามารถพัฒนาไปเป็นระบบไมโครกริดในสมัยใหม่ (Advanced Microgrid) ซึ่งจะมาความทันสมัยและซับซ้อนขึ้นเนื่องจากมีทรัพยากรทางพลังงานที่ต้องบริหารจัดการมากขึ้น
           ระบบไมโครกริดตามแนวคิดสมัยใหม่ หรือระบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart Microgrid) หมายถึง ระบบไฟฟ้ากำลังขนาดเล็กที่ประกอบด้วยกลุ่มของโหลดชนิดต่างๆ ระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายตัว ระบบกักเก็บพลังงาน โดยส่วนประกอบทั้งหมดทำงานร่วมกันผ่านระบบการบริหารจัดการพลังงาน ระบบควบคุม ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันและซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องในไมโครกริด เช่น อุปกรณ์ควบคุมการไหลกำลังไฟฟ้า (Power Flow Controller) อุปกรณ์ควบคุมแรงดันไฟฟ้า (Voltage Regulator) อุปกรณ์รีเลย์ป้องกันและเซอร์กิตเบรกเกอร์ต่างๆ เป็นต้น
           ประโยชน์ที่สำคัญของระบบไมโครกริดคือการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า โดยระบบไมโครกริดนั้นประกอบด้วยระบบผลิตไฟฟ้าภายในซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาขัดข้องกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ระบบไมโครกริดสามารถปลดตัวเองออกมาเป็นอิสระ และยังคงการจ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดที่มีความสำคัญภายในได้บางส่วน โดยอาศัยแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในระบบไมโครกริด และ/หรือ ระบบกักเก็บพลังงาน ผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบไมโครกริดสามารถกําหนดคุณภาพไฟฟ้า ความมั่นคงของไฟฟ้าและความเชื่อถือได้ของไฟฟ้าที่ต้องการได้
           อย่างไรก็ตาม ระบบไมโครกริด ถือว่าเป็นโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กในอนาคต
ที่ถูกพัฒนาขึ้นตามศักยภาพของพื้นที่ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และแหล่งพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีความมั่นคงทางพลังงาน ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ได้เปิดใช้งานต้นแบบสมาร์ทไมโครกริดแห่งแรกของประเทศไทย (The First Smart Microgrid Site of Thailand) ณ บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นระบบบริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงไว้ใช้ยามจำเป็น เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ชุมชนบ้านขุนแปะและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 483 ครัวเรือน 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save