เอนอีซ : เทคโนโลยีเอนไซม์รักษ์โลก ทดแทนสารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ


ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธ ได้ว่า กระแสอนุรักษ์นิยมสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้สนใจในวงกว้าง และมีแนวโน้มจะขายมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมีให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจนตลอดมา ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความ รู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้

อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีกระบวนการที่ใช้สารเคมี และพลังงานสูง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงได้มีการค้นคว้าวิจัย เทคโนโลยีเอนไซม์ “เอนอีซ”(ENZease) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดการใช้สารเคมี ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการผลิตเส้นใย ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือกระบวนการตกแต่งสำเร็จในผ้าผืน

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผู้ค้นพบเอนไซม์ เอนอีซ
ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผู้ค้นพบเอนไซม์ เอนอีซ กล่าวว่า “สำหรับเอนไซม์ตัวนี้ จุดเริ่มต้นคือ เราอยากจะทำให้กระบวนการทางสิ่งทอ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้ประโยชน์จากเชื้อจุลินทรีย์ ในการที่จะผลิตเอนไซม์ จากเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นมา เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีในการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว”

เอนอีซ” เป็นเอนไซม์ที่ผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center: TBRC) ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถสร้างเอนไซม์ได้ทั้งอะไมเลส และเพคติเนส ในเวลาเดียวกันเรียกได้ว่าเป็น “เอนไซม์อัจฉริยะ” ที่สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงมีจุดเด่นคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพสูงมากกว่าที่ใช้สารเคมี เนื่องจาก เอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจง ต่างจากสารเคมีที่ทำลายเส้นใยผ้า ซึ่งจะส่งผลให้ผ้ามีความแข็งแรง น้ำหนักลดลง และเนื้อผ้านิ่ม เหมาะสมสำหรับการสวมใส่

เอนไซม์เอนอีซ ทดแทนสารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ดร.ธิดารัตน์ อธิบายถึงกระบวนการทอผ้ากับการใช้เอนไซม์ให้ฟังว่า ในกระบวนการทอผ้า โดยทั่วไปก็จะมีการลอกแป้ง การกำจัดแว๊กไขมันออก ก่อนที่จะเอาไปย้อมสี พิมพ์ลาย เพราะถ้าไม่กำจัดออก ผ้าก็จะไม่สามารถที่จะย้อมสีติดได้ เพราะน้ำจะซึมผ่านไม่ได้นั่นเอง ในส่วนของแป้ง จะมาจากกระบวนการทอ ที่จะมีการลงแป้งที่เส้นด้ายเพื่อเพิ่มความเหนียว ไม่ให้เส้นด้ายขาดเวลาทอ แต่แป้งตัวนี้จะไปรบกวนในเรื่องการย้อมสี พิมพ์ลาย จึงต้องกำจัดออกก่อนเข้าสู่กระบวนการย้อม ส่วนตัวเส้นใยฝ้ายเอง ก็จะมีไขมันธรรมชาติหรือแว๊กติดมาอยู่แล้ว ซึ่งไขมันกับแป้งเหล่านี้ จะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้น้ำซึมเข้าไปในเนื้อผ้าได้ ทำให้ย้อมสีผ้าไม่ติด เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดค้นเทคโนโลยีที่จะรวบสองขั้นตอนนี้ ให้มาอยู่ในขั้นตอนเดียวกัน เพราะปกติแล้ว ถ้าจะลอกแป้งก็จะใช้สารเคมีชุดนึง กำจัดแว๊กก็จะใช้สารเคมีอีกชุดนึง เป็นสองขั้นตอน แต่ถ้าหากใช้เอนไซม์ตัวนี้ ก็จะรวบอยู่ที่ขั้นตอนเดียว นอกจากนี้ยังไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูงที่ 98 องศา เหมือนวิธีปกติ ใช้เพียงประมาณ 50 องศา ก็เพียงพอแล้ว ก็จะช่วยลดขั้นตอน ลดเวลา ประหยัดน้ำ ลดต้นทุนการผลิตโดยรวมลงได้กว่า 50% และเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดค่าบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย

เทคโนโลยีเอนไซม์ “เอนอีซ”(ENZease) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เอนไซม์เอนอีซนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทดแทนกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิมได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรใดๆ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งทอสามารถเพิ่มกำลังการผลิตผ้าฝ้ายต่อวันได้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอนไซม์ดังกล่าวในอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยปฏิวัติกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน และปัจจุบันเอนไซม์ตัวนี้มีวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว โดย บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด หากใครสนใจก็สามารถติดต่อซื้อจากบริษัทฯ ได้โดยตรง” ดร.ธิดารัตน์กล่าว


ข้อมูล : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save