3 การไฟฟ้า ผนึกกำลัง เปิดตัว มาตรการ อนุรักษ์พลังงาน สำหรับผู้ผลิต และจำหน่าย


การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมเปิดตัวการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards: EERS) ตามกลยุทธ์ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) เพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับใน พ.ศ. 2566-2579 ตั้งเป้าการประหยัดไฟฟ้าในช่วงนำร่อง 5 ปี ได้ถึง 206 ล้านหน่วย

          ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2561 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า GDP จะขยายตัว 4.2-4.7% ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมของการใช้พลังงานที่เติบโตตามไปด้วย น้ำมันดิบต้องนำเข้า 74% ก๊าซธรรมชาติจะหมดไปในอีก 15 ปี พลังงานถ่านหินจะหมดไปในอีก 60 ปี ดังนั้นเพื่อรองรับสภาวการณ์ดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 ตั้งเป้าหมายในการอนุรักษ์พลังงาน ในภาพรวมของประเทศ จำนวน 89,672 ล้านหน่วย โดยกำหนดให้มีมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่าย หรือ EERS เป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทย

          จากการศึกษาพบว่า มาตรการ EERS เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ในส่วนผู้กำกับดูแล ได้แก่ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับ
กิจการพลังงาน สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในส่วนผู้ให้บริการไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้บริการไฟฟ้าในภาคอาคาร อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จนถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเพื่อเป็นการดำเนินการวางแผนมาตรการ EERS ที่จะเพิ่มมาตรการบังคับใน พ.ศ. 2561 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3 การไฟฟ้าจึงได้ดำเนินโครงการนำร่อง สาธิต ตามมาตรการ EERS ในช่วง พ.ศ. 2561-2565

          ธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแผนบูรณาการยกระดับและพัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีคุณค่ามากขึ้น โดยผสมผสานการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้นำมาตรการ EERS ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในแผนพลังงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมอบหมายให้ 3 การไฟฟ้าไปดำเนินการต่อเพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง นับเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล โดยนำองค์ความรู้การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาและต่อยอดให้กับผู้ใช้บริการไฟฟ้าในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าว่าภายในปี 2579 ต้องลดการใช้พลังงานทุกรูปแบบให้ได้ 30% จากการใช้พลังงานทั้งหมด ส่วนพลังงานไฟฟ้า คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ 360,000 ล้านหน่วยต่อปี ปัจจุบันมีการใช้เกือบ 200,000 ล้านหน่วยต่อปี อนาคตตั้งเป้าว่าจะต้องลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงให้ได้ 50,000 ล้านหน่วย

          สำหรับมาตรการ EERS เป็นกลยุทธ์ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) โดยกำหนดให้ 3 การไฟฟ้า ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับ พ.ศ. 2566-2579 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ แบ่งมาตรการดำเนินงานเป็น 3 ประเภท ได้แก่ มาตรการให้คำปรึกษา โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทุกภาคส่วน มาตรการใช้แรงจูงใจทางการเงิน สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ มาตรการลักษณะภาพรวม(Mass) เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม เช่น การจัดการพลังงานในรูปแบบ ESCO Matching การจัดทำมาตรฐานประหยัดพลังงานที่สูงกว่ามาตรฐานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน

          ชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า นอกจากดำเนินภารกิจหลักในการจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการด้วยความมั่นคงและเชื่อถือได้แล้ว กฟน.ยังสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการต่างๆ มาโดยตลอด เช่น โครงการ กฟน.ล้างแอร์ลดโลกร้อน, โครงการ Energy Mind Award, โครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Saving Building) รวมไปถึงโครงการให้บริการด้านธุรกิจพลังงานแก่ภาครัฐและเอกชน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง สำหรับการดำเนินมาตรการ EERS ในช่วงโครงการนำร่อง
พ.ศ. 2561-2565 กฟน.กำหนดแนวทางเพื่อรองรับมาตรการ EERS ได้แก่ การให้คำปรึกษา ตรวจวัดการใช้พลังงาน นำเสนอแนวทางการประหยัดพลังงาน และให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนดำเนินโครงการ Energy Alert โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนให้สามารถแจ้งเตือนข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แบบตามเวลาจริง (Real-time) ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังและตระหนักถึงการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้

          เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.
จำหน่ายไฟฟ้ากว่า 74 จังหวัด มีลูกค้า 19.6 ล้านคน ในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 20 ล้านคน
เนื่องจาก กฟภ.ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนได้ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้พลังงาน การปรับปรุงกระบวนการและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการจัดการพลังงานในรูปแบบการอนุรักษ์พลังงาน (ESCO) โดยมีการสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินศักยภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งดำเนินการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในอาคารภาครัฐ : กฟภ. ดำเนินการสำรวจ ตรวจวัด กำหนดมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 13 หน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ประมาณ 25.65 GWh ต่อปี, โครงการให้บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการพลังงานสำหรับลูกค้าภาครัฐและเอกชน : กฟภ. ให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านจัดการพลังงานแล้วไม่น้อยกว่า 50 ราย ด้วยมาตรการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ รวมถึงระบบอัดอากาศ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 20 GWh และการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน : มุ่งเน้นกิจกรรมในลักษณะ ESCO Matching สร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานได้จริง สำหรับในระยะแรกไม่น้อยกว่าปีละ 10 ล้านหน่วย

          วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) มาตั้งแต่ปี 2536 และยังมีกลยุทธ์ 3 อ. ประกอบด้วย อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน อาคารประหยัดพลังงาน และ อุปนิสัยลดใช้พลังงาน เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบายของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 27,120 ล้านหน่วย และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศลงกว่า 15.4 ล้านตัน สำหรับมาตรการ EERS กฟผ. ได้นำงาน DSM มาพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการนำร่อง ประกอบด้วย งานที่ปรึกษาในรูปแบบ ESCO และตรวจวัดการใช้พลังงานให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โครงการสนับสนุนการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงเรียนและภาคครัวเรือนด้วยการเปลี่ยนหลอด LED และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง โดยจัดทำมาตรฐานการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าเดิม และแบ่งเกณฑ์ประสิทธิภาพฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ให้สะท้อนผลการประหยัดพลังงานที่ละเอียดมากขึ้น โดยกำหนดใช้งานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

          ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังจากการดำเนินโครงการนำร่องในมาตรการ EERS จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 206 ล้านหน่วย รวมถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นพัฒนาไปสู่เกณฑ์มาตรฐานการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save