COP26 กับบทบาทประเทศไทย ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

การประชุม COP จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเพื่อแสดงเจตจำนงหรือความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุม COP26

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต (CMP16) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (CMA3) มีผู้นำจาก 117 ประเทศได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นการเจรจาที่สำคัญในการประชุม COP26

  • การกำหนดกลไกความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ
  • การกำหนดกรอบระยะเวลา (Timeframe) ในการดำเนินงานตามเป้ามายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)
  • การกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การกำหนดรูปแบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG Inventory)
  • การรายงานความก้าวหน้าด้านการดำเนินงานของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด

บทบาทประเทศไทยในเวที COP26

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในห้วงการประชุม COP26 เพื่อแสดงเจตจำนงของกระเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับประชาคมโลกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies : LT-LEDS) ของประเทศไทย รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก ๆ ของโลกที่สามารถดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกรอบมาตรการในการดำเนินงานที่ชัดเจน

พร้อมกันนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดแก่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) เป็นร้อยละ 40 ได้และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2050

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับนานาประเทศ เนื่องจากเราไม่มี “แผนสอง” เพื่อเยียวยาสภาพภูมิอากาศ และเราไม่มี “โลกที่สอง” ที่เป็นบ้านของพวกเราได้เหมือนอย่างโลกใบนี้อีกแล้ว

ปฏิญญาสำคัญ ที่ UK เชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมในระหว่างการประชุม COP26

สหราชอาณาจักร (UK) ในฐานะประธานการประชุม COP26 ได้เชิญชวนประเทศต่าง ๆ พิจารณาเข้าร่วมปฏิญญาสำคัญที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย

Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use

ปฏิญญากลาสโกว์ แสดงความมุ่งมั่นของผู้นำที่จะร่วมกันหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี ค.ศ. 2030 เปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน และหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าและความเสื่อมโทรมของที่ดิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Global Coal to Clean Power Transition Statement

ปฏิญญาการเปลี่ยนผ่านพลังงานถ่านหินสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่การเปลี่ยนการใช้พลังงานจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด โดย 1] เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาดและศักยภาพการใช้พลังงาน 2] ยกระดับเทคโนโลยีและนโยบายภายในปี ค.ศ. 2040 (ภายใน 10 ปีนี้ สำหรับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่) 3] หยุดการออกใบอนุญาตและโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และภาครัฐหยุดสนับสนุนโดยตรงต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน

World Leader Summit Statement on the Breakthrough Agenda

แสดงความตั้งใจของประเทศ ที่จะร่วมกันในระดับสากลเพื่อเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีสะอาดและทางเลือกที่ยั่งยืนไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส โดยมีราคาที่เหมาะสม เข้าถึงได้ ช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาด การสร้างงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นทางเลือกแก่ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2030 (ครอบคลุมการผลิตไฟฟ้า การขนส่งทางถนน เหล็ก และไฮโดรเจน)

COP26 Declaration on Accelerating the Transition to 100% Zero Emission Cars and Vans

ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ตั้งใจเร่งการเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งบรรลุตามเป้าหมายของความตกลงปารีส โดยจะร่วมกันผลักดันให้ทั่วโลกจำหน่ายยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2040 และภายในปี ค.ศ. 2035 สำหรับตลาดที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้

นโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

แผนระดับ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แผนย่อย 3 การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

1.ลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก
2.การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
4.รับมือต่อโรคอุบัติใหม่/โรคอุบัติซ้ำจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนระดับ 2

  • แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน แผนย่อย 3 การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
  • แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • เรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ 3 ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • เรื่องระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ ประเด็นที่ 8 การปฏิรูปกฎหมาย (ร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ)
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
    • ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและขีดความสามารถในการรับตัวฯ
    • กรอบแผนฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • นโยบายและแผนว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่ 11 รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แผนระดับ 3

  • แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 20.8% จากกรณีปกติ ณ ปี 2030
  • แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 รายสาขา ในสาขาพลังงาน สาขาขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม/น้ำเสียอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย
  • แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ด้านการปรับตัวฯ การลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถ
  • แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ด้านการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

ความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality)

มาตรการสำคัญในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)

พลังงานและขนส่ง

  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน / ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น Electric Vehicles (EV), Carbon Capture and Storage (CCS), Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS), Bio-Energy with CSS (BECCS)
  • เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าและความร้อน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคไฟฟ้า
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีผ่านนโยบาย 4D1E
  • ใช้พลังงานทดแทนในยานยนต์ (เอทานอลและไบโอดีเซล)

กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์

  • การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกและคอนกรีตผลสมเสร็จ และการใช้เทคโนโลยีในการลดการปล่อย CO₂ ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์
  • การจัดการมีเทน (CH4) ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม
  • ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นที่มีค่า GWP ต่ำ เช่น สารทำความเย็นธรรมชาติ (Natural Refrigerants)
  • การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยเพิ่มการผลิตก๊าซชีวิภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมด้วยการนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์

ของเสีย

  • การจัดการขยะชุมชน เช่น
    • ลดปริมาณขยะ
    • นำก๊าซจากบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย (Landfill Gas) ไปเผาทิ้ง หรือนำไปใช้ประโยชน์
    • นำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก (Composting)
  • การจัดการน้ำเสียชุมชน
    • เพิ่มการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบ
    • เพิ่มจำนวนระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน

การเกษตร

  • จัดการมูลสัตว์ และการหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์
  • การทำเกษตรแบบยั่งยืน
  • การปลูกพืชแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

ป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

  • ปลูกป่าและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ
  • ปลูกป่าเศรษฐกิจ
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท
  • ป้องกันการบุกพื้นที่ป่าและการเผาป่า

ก๊าซเรือนกระจก

บัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ข้อมูลจากการใช้ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory System : TGEIS) คำนวณตามคู่มือ IPCC2006 พบว่า ปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) จำนวน 354,357.61 GgCO₂eq และปล่อยสุทธิ (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) จำนวน 263,223.46 GgCO₂eq โดยแบ่งเป็น

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
จำนวน 31.531.41 GgCO₂eq

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์แร่ 18,968.93 GgCO₂eq
  • กลุ่มเคมี 11,970.64 GgCO₂eq
  • กลุ่มอื่น ๆ 591.84 GgCO₂eq

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร
จำนวน 52.158.70 GgCO₂eq

  • กลุ่มปลูกข้าว 26.639.52 GgCO₂eq
  • การปล่อยก๊าซ N2O ทางตรงจากดินเกษตร 8,42.98 GgCO₂eq
  • ระบบย่อยอาหารของสัตว์ 8,477.89 GgCO₂eq
  • อื่น ๆ 8,615.31 GgCO₂eq

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสีย
จำนวน 16.771.89 GgCO₂eq

  • กลุ่มระบบบำบัดน้ำเสีย 8,310,24 GgCO₂eq
  • กลุ่มการจัดการขยะ 8.139.72 GgCO₂eq

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากจากภาคพลังงาน
จำนวน 253.895.61 GgCO₂eq

  • การผลิตไฟฟ้า/ความร้อน 108,238.60 GgCO₂eq
  • คมนาคมขนส่ง 68,260.17 GgCO₂eq
  • อุตสาหกรรมก่อสร้าง 49.538.34 GgCO₂eq
  • การรั่วไหล 10.684.61 GgCO₂eq
  • อื่นๆ 16.993.90 GgCO₂eq

โดยภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ -91,134.15 GgCO₂eq แบ่งเป็น จากกลุ่มพื้นที่เพาะปลูกยังคงเป็นพื้นที่เพาะปลูก -73,457 GgCO₂eq และกลุ่มป่าไม้ที่ยังคงเป็นป่าไม้ – 25,117 GgCO₂eq

ป่าไม้

การดำเนินงานในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย

ประเทศไทยวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ พื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่ (ร้อยละ 35) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 48.42 ล้านไร่ (ร้อยละ 15) และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ (ร้อยละ 5)

ปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ 102.04 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 11.29 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำชั้น 1,2) ป่าชุมชน ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน พื้นที่ ส.ป.ก. ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่นิคมสร้างตนเอง/นิคมสหกรณ์ เป็นต้น

ปลูกป่าเศรษฐกิจ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 32.65 ล้านไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าเพิ่ม 15.99 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2580 ในส่วนของพื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำชั้น 3,4,5) สวนป่าของ อ.อ.ป. พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวน พื้นที่ปลูกยางพารา และพื้นที่เอกชน (ที่ดินกรรมสิทธิ์) เป็นต้น

พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท

ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ทุกจังหวัด รวมทั้งประเทศให้ได้ 3 ล้านไร่

ทั้งนี้ นอกจากการเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าตามข้อมูลข้างต้นทั้ง 3 เป้าหมายแล้ว ยังได้กำหนดมาตรการ/เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการเผาป่าด้วย ซึ่งศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO₂eq) ในปี พ.ศ. 2580

ปฏิญญากลาสโกว์ ผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
(Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use)ในส่วนของการเข้าร่วมปฎิญญากลาสโกว์นั้น เนื่องจาก UK ประสานงานเชิญชวนให้เข้าร่วมปฏิญญาฯ ในเวลากระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทัน ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถลงนามเข้าร่วมปฏิญญาฯ ได้ในการประชุม COP26อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพร้อมเข้าร่วมปฏิญญาดังกล่าว เพื่อหยุดตัดไม้ภายในปี ค.ศ. 2030 เนื่องจากสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผส.) ในฐานะ UNFCCC National Focal Point จะเร่งประสานงานหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงต้องวิเคราะห์ข้อดี/ข้อเสีย ตลอดจนประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างรอบคอบ เพื่อพิจารณาการเข้าร่วมปฏิญญาดังกล่าวของประเทศไทย ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

คาร์บอนเครดิต และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูกและดูแลป่า

คาร์บอนเครดิต คืออะไร

คาร์บอนเครดิต” คือ ตัวเลขปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้จากโครงการต่าง ๆ เช่น การปลูกป่าอนุรักษ์ การปลูกป่าเศรษฐกิจ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) ฯลฯ ซึ่งสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปแลกเปลี่ยนหรือ ซื้อ-ขายได้ โดยต้องมีการเปลี่ยนหน่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ป่าไม้ แหล่งพื้นที่สีเขียว

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) คือ กลไกลภายในประเทศที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการฯ มีระบบขึ้นทะเบียนการตรวจสอบ ยืนยัน และรับรองผลการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบบัญชี T-VER Credits ให้แก่ผู้ดำเนินโครงการ หรือผู้ซื้อ-ผู้ขายคาร์บอนเครดิต

มาตรการส่งเสริมการปลูก รักษาและพื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

  • ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุงอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 (ประกาศ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2564)
  • ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 (ประกาศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564)

ภาคเอกชนผู้พัฒนาโครงการปลูกป่าต้องขึ้นทะเบียนกับโครงการ T-VER ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของรัฐ โดยผู้พัฒนาโครงการฯ จะได้รับการแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิตร้อยละ 90 และหน่วยงานรัฐเจ้าของพื้นที่ ร้อยละ 10 หรือตามตกลง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคุณอาจสนใจ Update!!


รวบรวมข้อมูลจาก:

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (FB @onep.gov.th)
ข้อมูลโดย กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save