กรมชลประทาน ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกษตรกร – อีสท์วอเตอร์ เดินหน้าจัดทำ EHIA พัฒนา “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” ทุกมิติ


กรมชลประทาน ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ยางพารา และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ติดตามการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เพื่อสรุปความเห็น จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Health Impact Assessment :EHIA) ฉบับสมบูรณ์ทุกมิติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี สร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดน้ำทุกภาคส่วน ทั้งการอุปโภคและบริโภคใน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนต่อไป

กรมชลประทานลงพื้นที่รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกษตรกร-อีสท์วอเตอร์
เพื่อจัดทำ EHIA พัฒนา “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” ทุกมิติ

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นโครงการที่เพิ่มพื้นที่ระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม และ อำเภอแก่งหางแมว ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อการใช้น้ำให้กับทุกภาคส่วน ทั้งด้านการเกษตร ที่นา สวนผลไม้ ที่ครอบคลุมในพื้นที่การเกษตร 87,700 ไร่ ใน 3 อำเภอ ดังกล่าว โดยได้นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ติดตามการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ จังหวัดระยอง เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนวางระบบท่อส่งน้ำเพื่อชลประทานในภาคการเกษตร โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรสวนผลไม้ทุเรียน และยางพารา รวมถึงผู้ให้บริการส่งน้ำภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการศึกษาระบบการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่จะรองรับการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำ ที่มั่นใจว่าจะสามารถป้อนน้ำให้เพียงพอ พร้อมกับเพิ่มกับน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ อย่างสมดุล โดยข้อมูลความคิดเห็นที่ได้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในวงกว้างมากขึ้น
สร้างความเชื่อมั่นในโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด


สำหรับเป้าหมายการดำเนินโครงการฯในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปิดโอกาสให้เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในวงกว้างมากขึ้น เพื่อยกระดับความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับชุมชนในเชิงลึกของการพัฒนาโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถสร้างประโยชน์ในทุกภาคส่วนครบถ้วนทุกมิติ โดยได้มีการติดตามข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำในส่วนของภาคประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลของความต้องการใช้น้ำให้สอดรับกับความต้องการใช้จริงในปัจจุบันและในระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นหนึ่งในโครงข่ายเชื่อมโยงระบบส่งน้ำของพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีแผนการส่งน้ำส่วนเกินสนับสนุน เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูมรสุมและผันน้ำไปใช้ในฤดูแล้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถลดผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่เกษตร ได้ประมาณ 5,575 ไร่ ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบ เศรษฐกิจ สังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าไม้ และสัตว์ป่า ได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ

แผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด
ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ความจุรวมกัน 308.56 ลบ.ม.

เฉลิมเกียรติ กล่าวถึงแผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดที่กรมชลประทานดำเนินการว่า มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60.25 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะนี้ 2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้านลูกบาศก์เมตร 3. อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ 4. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตรปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 แห่ง มีความจุรวมกัน 308.56 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 267,800 ไร่ รองรับความต้องการน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้ปีละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำส่วนเกินป้อนไปยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้ ภาคอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี

ในส่วนของความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ในกลุ่มผลไม้ 5 ชนิดที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และลำไย ซึ่งผลไม้ดังกล่าวนี้ ล้วนต้องใช้น้ำในปริมาณมากด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เช่น ทุเรียน ใช้น้ำวันละ 320-500 ลิตรต่อต้นต่อวัน มังคุด ใช้น้ำวันละ 1,100-1,600 ลิตรต่อต้นต่อวัน เงาะ ใช้น้ำวันละ 180- 320 ลิตรต่อต้นต่อวัน ลองกอง ใช้น้ำวันละ 20 ลิตรต่อต้นต่อวัน และลำไย ใช้น้ำวันละ 4,400 – 6,600 ลิตรต่อต้นต่อวัน

เน้นการจัดการน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด
เพื่อประโยชน์แก่ทุกๆ ภาคส่วนในพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจริญ ปิยารมย์ ประธานกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด และเจ้าของสวนปิยารมย์ กล่าวว่า การจัดการน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดเพื่อประโยชน์แก่ทุกๆ ภาคส่วนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องมองเชิงลึกเข้าถึงทุกๆ ปัญหาการใช้น้ำแล้วนำไปหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำในภาคเกษรกรรม อุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ใช้อุปโภคและบริโภคที่นับวันปริมาณการใช้น้ำจะเพิ่มมากขึ้น แต่แหล่งน้ำกลับมีปริมาณรองรับน้ำได้เท่าเดิม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหารับฟังปัญหารอบด้านทุกๆ มิติทั้งข้อดีข้อเสียข้อเรียกร้องจากทุกๆ ภาคส่วนแล้วนำไปปรับหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่ 3 อำเภอในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องขยายสู่ 3+1 จังหวัด คือ 3 จังหวัดเดิมในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และรวมจังหวัดจันทบุรีเพิ่มเข้าไปอีกจังหวัดหนึ่งด้วย หากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยสนับสนุนและสร้างความมั่นคงทางน้ำให้แก่เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก

อีสท์วอเตอร์มั่นใจอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ศุภทรรศ สาพิมาน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบริการลูกค้า บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการจัดส่งน้ำดิบเข้าสู่ระบบ การผลิตของโรงงาน และสาธารณูปโภคในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยการบริหารจัดการระบบขนส่งน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งบริษัทฯ จะทำการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานเป็นหลักประมาณ 90% โดยใช้น้ำที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ดอกกลาย และหนองปลาไหล ในภาพรวมมีปริมาณน้ำในอ่าง 70-80%

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยการวางโครงข่ายผันน้ำผ่านท่อส่งน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบ (อ่างเก็บน้ำหลักใน 3 จังหวัด) มาป้อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในหลายโครงการ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จังหวัดชลบุรี โครงการสระทับมา จังหวัดระยอง และโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำดิบอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี โครงการปรับปรุงเครือข่ายอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล จังหวัดระยอง และโครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ต้องขับเคลื่อนในระยะต่อไป ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกทั้งระบบ ได้แก่ โครงการเครือข่ายอ่างประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จังหวัดชลบุรี โครงการเครือข่ายน้ำอ่างคลองโพล้-อ่างประแสร์ และโครงการเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างประแสร์ จังหวัดระยอง

“หากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องอุทุกภัยและภัยแล้งมากขึ้น” ศุภทรรศ กล่าว

นิคมฯ มาบตาพุดหนุนสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
เชื่อเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในพื้นที่ และ EEC

ธวัชศักดิ์ เกิดมณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า การจัดสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทาน เกษตรกรในพื้นที่ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีส่วนใช้น้ำในพื้นที่ต้องการให้มีการก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรมแล้วเสร็จตามเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำทั้งช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกๆ ภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งประชากรแฝงที่จะเข้ามาท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังรองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคตด้วย

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save