บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศหนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัทฯ โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศเป้าหมาย และพร้อมเดินหน้าศึกษาโมเดลและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญ กล่าวคือ
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น
- บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง ในจำนวนนี้มี 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปีนี้นอกเหนือจาก 3 โครงการที่ดำเนินการสำเร็จในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์
- การลงทุนขยายธุรกิจ โดยบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน ให้มุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
ในปีนี้ บริษัทฯ ได้ทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
“บริษัทฯ ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ 1.โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต 2.ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม และ 3. การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า การดำเนินตามแนวทางแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้ราช กรุ๊ป เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นิทัศน์ กล่าว
สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจของราชกรุ๊ปในช่วงที่เหลือของปี 2567 บริษัทฯ ได้เตรียมงบประมาณในการขยายการลงทุนเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 ซึ่งอยู่ในการก่อสร้างตามกำหนดการ COD ในช่วงต้นปี 2568 ถึง 80% รวมถึงโครงการที่มีกำหนดตามแผนเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ที่เหลือในครึ่งปีหลังอีก 20% อาทิ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช , โรงไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย , โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 เวียดนาม และโครงการ LG2 BESS ในการเก็บแบตเตอรี่ ที่ประเทศออสเตรเลีย
ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,817.28 MW โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 72.5) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 (ร้อยละ 27.5) ในปี 2567 บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุน จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึงร้อยละ 30 ในปี 2573 และร้อยละ 40 ในปี 2578