10 ปีพลังงานทดแทนไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็พากันเดินซ้ายทีขวาทีเหมือนแม่ปูกับลูกปู ภาครัฐเองพยายามส่งเสริมจนบางครั้งก็จะเสียค่าโง่ ถูกฟ้องร้องกันมาถึงปัจจุบันยังไม่จบ ส่วนเอกชนก็ลองถูกลองผิด ใครเก่งแต่ไม่เฮงก็มีอันเป็นไป 10 ปีผ่านมามีบทเรียนฝากแผลลึกไว้ในใจทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างแสนสาหัส อยู่ที่ว่าจะยอมรับและ “แน่วแน่แก้ไข” กันหรือไม่ จะขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เป็นรูปธรรมให้ช่วยกันคิดในยามที่ใครๆ ก็ปล่อยเกียร์ว่าง
เทคโนโลยี พลังงานทดแทน เรามักได้ยินภาคเอกชนอวดความพร้อมว่า “เทคโนโลยีพร้อม เงินลงทุนพร้อม ภาครัฐพร้อมหรือยัง” และได้ยินได้อ่านข้อกำหนดของภาครัฐ เขียนไว้ทำนองว่าในเมื่อเอกชนลงทุน 100% จะใช้เครื่องเก่า เทคโนโลยีโบราณแค่ไหนก็ได้ จะได้ประหยัดการนำเข้าสินค้าทุน แล้ววันนี้ผลงานความคิดของรัฐและเอกชนที่สอดคล้องกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมเหมือน “ช้างตายทั้งตัวใบบัวปิดไม่มิด” ตัวอย่าง เช่น ……
1) เอทานอล แอลกอฮอล์ 99.5% ที่เราใช้ผสมในเบนซินพื้นฐานแล้วเรียกชื่อทางการค้าว่า แก๊สโซฮอล์ ถ้าผสมเอทานอล 20% จะเรียก E-20 ปัจจุบันเราใช้เอทานอลวันละกว่า 3.5 ล้านลิตร ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากโมลาสหรือกากน้ำตาล มีส่วนน้อยที่ผลิตจากมันสำปะหลัง…ปัญหาก็คือรัฐต้องการลดราคาเอทานอลให้ต่ำกว่าลิตรละ 20 บาท แต่ภาคเอกชนต้องการราคา 20 บาทเศษๆ ต่อลิตร โดยพยายามอ้างถึงความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบเข้าโรงงาน แต่ขอฟันธงเลยว่าปัญหาหลักอยู่ที่เทคโนโลยีการผลิต โรงงานเก่าๆ ที่ใช้เครื่องจักรทั้งเก่า และใหม่จากมหามิตรเพื่อนบ้าน เป็นเทคโนโลยีล้าสมัย ประสิทธิภาพแตกต่างกับเครื่องจักรรุ่นใหม่…แล้วถ้าจะให้รัฐเอาเงินภาษีพวกเราไปอุดหนุนเทคโนโลยีเก่าที่กำไรคืนทุนไปแล้วรัฐคงหนักใจไม่น้อย
2) โรงไฟฟ้าVSPP ชีวมวล ปัญหาเทคโนโลยีชัดเจนไม่ต้องถามใคร ถามเจ้าของโรงไฟฟ้าได้ทุกโรงไม่เก่าทั้งชุดก็อาจนำเข้าแบบลูกผสม ต้นทุนอาจจะเพียง 50% ของโรงไฟฟ้าดีๆ แต่มีผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและความไม่คุ้มค่าทางการลงทุนสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการอันเนื่องจากภาครัฐมีการรับซื้อไฟฟ้า 2 ราคา ทำให้โรงไฟฟ้าเก่าบางโรงที่เทคโนโลยีแย่อยู่แล้วพลอยเอาตัวไม่รอดไปด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลปัจจุบันที่ขายไฟฟ้ากันอยู่ 8-9 เมกะวัตต์ หากเลือกเทคโนโลยีดีๆ ลงทุนเพิ่มเล็กน้อยจะประหยัดเชื้อเพลิงวันละกว่า 100 ตัน ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวมวลตันละพันกว่าบาท ลองคูณดูด้วยตัวเลข 100 × 1,000 = ? แล้วท่านจะรู้ว่าประหยัดกว่ากันวันละเท่าไหร่
3) Gasification กับ โรงไฟฟ้าชีวมวล 1-2 MW กว่า 90% ใช้เครื่องเก่าและเครื่องราคาถูก ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น ท่านลองถามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและ สกพ. ดูว่ามีโรงไฟฟ้า Gasification โรงไหนที่ได้ PPA แล้วขายไฟอย่างสม่ำเสมอบ้าง คำตอบก็คือยังไม่มีสำหรับ Gasification ในเมืองไทย นอกจากเอาแต่ลงทุนราคาถูกแล้วปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือผู้เชี่ยวชาญมีน้อยมาก
4) เชื้อเพลิงชีวมวล (Woodchip/Wood Pallets) เมื่อพูดถึงชีวมวลใครๆ ก็จะต้องพูดถึงกรมป่าไม้และนึกถึงเรื่องร้ายๆ ว่า แม้แต่ปลูกต้นยางพารา ต้นสักในที่ของเราเองยังตัดไม่ได้ ผิดกฎหมาย แต่สำหรับวันนี้ยุคกรมป่าไม้ 4.0 ไม่เป็นอย่างท่านคิดอีกแล้ว ลองอ่านบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของท่านรองอธิบดีกรมป่าไม้ คุณจงคล้าย วรพงศธร ท่านได้อธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายให้พวกเราชาวพลังงานทดแทน ลองศึกษาดู…
“กรมป่าไม้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศซึ่งจะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 (ประมาณ 49 ล้านไร่) สำหรับการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจนั้น กรมป่าไม้คงต้องส่งเสริมและพัฒนางานปลูกป่าเศรษฐกิจต่อไปโดยฝากความหวังไว้ที่ภาคเอกชน”
วันนี้ “กรมป่าไม้” มาพร้อมกับพันธกิจที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน ตั้งแต่การสร้างอาชีพใหม่ขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ อาชีพ “ปลูกไม้เศรษฐกิจ” จึงมั่นใจได้ว่านโยบายของกรมป่าไม้ยุคไทยแลนด์ 4.0 ชีวมวลไทยจะไม่ขาดแคลน ภาคเอกชนจะสามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว โดยผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียนป่าออนไลน์ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสวนป่าออนไลน์ เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง เป็นต้น”
หน่วยงานรัฐอื่นๆ ถ้าจะแน่วแน่แก้ไขเหมือนกรมป่าไม้ ก็ให้รีบปรับปรุงกฎหมายและบุคลากรให้เป็น 4.0 ไปพร้อมกันเลยทีเดียวแล้วเข้าเกียร์เดินหน้าสู่เป้าหมายแบบ Stronger Together