กทม. เผยข้อมูลสถานการณ์ขยะติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัจจุบันจัดเก็บขยะติดเชื้อทั่วไปและขยะติดเชื้อ COVID-19 เฉลี่ย 74 ตันต่อวัน โดยมีระบบการจัดการขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทาง พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์ขยะติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจัดเก็บขยะติดเชื้อทั่วไปและขยะติดเชื้อ COVID-19 เฉลี่ย 74 ตันต่อวัน โดยสำนักสิ่งแวดล้อมมีระบบการจัดการขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทาง กลางทางจนถึงปลายทาง พร้อมทั้งได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี ณ สถานที่หรือถังขยะติดเชื้อที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ให้ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยการเผาที่โรงงานเตาเผามูลฝอยติดเชื้อและเตาเผามูลฝอยชุมชน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้ออ่อนนุชและหนองแขม โดยกรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจดำเนินการจัดเก็บขยะติดเชื้อจากสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โรงพยาบาลสนาม หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) สถานที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน และศูนย์บริการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้ความรู้การดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัย และดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยจัดชุดป้องกันการติดเชื้อ ผ้าปิดจมูก ถุงมือยาง แว่นตา รองเท้าบูท หน้ากากสวมป้องกันใบหน้า เจลแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อ และดูแลให้เจ้าหน้าที่ได้รับวัคซีนครบทุกคน และการทำประกันภัยโควิด-19 อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 จึงขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัยและชุดทดสอบแอนติเจน) ออกจากขยะทั่วไป ไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน โดยทิ้งใส่ถุงขยะสีแดงหรือถุงขยะทั่วไปเขียนติดหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อ แยกทิ้งในสถานที่ที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ในที่สาธารณะ อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สวนสาธารณะ สถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น
ที่มา: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร