การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทย ผ่านโครงการ Sensor for All เตรียมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่สำนักงานของ กฟผ. และชุมชนโดยรอบ จำนวน 55 จุด ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ และตั้งเป้าติดตั้งในปี 2564 ให้ครบ 200 จุด ทั่วประเทศ
นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีแผนติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตามแผนจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม กฟผ. (EGAT Air TIME) ซึ่งได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่เตรียมการติดตั้ง โดยมี อ.ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต นักวิจัยหลักในโครงการ Sensor for All และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมงานมาให้ความรู้
นายจรัญ คำเงิน กล่าวว่า การติดตั้งเซนเซอร์เป็นส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จะดำเนินการติดตามคุณภาพอากาศ เพื่อนำเป็นข้อมูลในการวางแผนดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและชุมชน เช่น การให้ความรู้ การส่งเสริมให้เกิดการดูแลคุณภาพอากาศ ตลอดจนการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน โดยในขณะนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบอุปกรณ์เซนเซอร์ไปยังพื้นที่ 55 จุด พร้อมทั้งให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการประชุม Zoom โดยทีมอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ กำหนดแผนติดตั้งเซนเซอร์ในพื้นที่สำนักงาน กฟผ. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. และชุมชนในพื้นที่โดยรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายใน 30 เมษายน 2564
ในปี 2564 กฟผ. จะร่วมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครบ 200 จุดในบริเวณพื้นที่ กฟผ. และเครือข่ายพันธมิตรของ กฟผ. อาทิ โรงเรียนในโครงการ “ห้องเรียนสีเขียว” วิทยาลัยอาชีวะในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ). สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อดำเนินการตรวจวัด เก็บข้อมูล และรายงานผลค่าคุณภาพอากาศ ทั้งค่า AQI ค่า PM2.5 และค่า PM10 ผ่าน Application เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูล
ด้าน อ.ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต กล่าวว่า โครงการ Sensor for All ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าหมายในการติดตั้งเซนเซอร์จำนวน 500 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูลมาศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งเซนเซอร์ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยหากติดตั้งเซนเซอร์ตามพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. จะทำให้มีเครือข่ายเซนเซอร์มากกว่า 300 จุดทั่วประเทศและจะมีการติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เพิ่มเติมจนกว่าจะครบตามเป้าหมาย
สำหรับโครงการ Sensor for All เป็นการตรวจสอบคุณภาพอากาศ ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ภาคพื้นดินไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ บูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และ ข้อมูลจากดาวเทียมของ GISTDA แสดงผลของคุณภาพอากาศในรูปแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หรือ Real Time และหากพัฒนาการคาดการณ์ได้ในอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชน สำหรับการเฝ้าระวังและวางแผนมาตรการการจัดการลดและป้องกัน รวมทั้งเป็นข้อมูลพิจารณาดำเนินกิจกรรมป้องกันในชีวิตประจำวัน โดย กฟผ. จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา Platform ที่สำคัญเพื่อประชาชนและประเทศชาติในครั้งนี้ ที่จะร่วมดูแลและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและอากาศบริสุทธิ์ไปด้วยกัน
Source: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)