การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยเตรียมเดินหน้าพัฒนาตลาดการซื้อขายและรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) รุกสร้างความรู้ความเข้าใจกลไกการซื้อขาย และรับรองเครดิตผ่าน REC Platform อย่างครบวงจร มุ่งช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายNationally Determined Contribution (NDC) ผ่านมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานไฟฟ้า
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้เปิดตัวธุรกิจให้บริการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ. ได้รับสิทธ์จาก The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในปี 2564 กฟผ. จึงเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาตลาด REC ให้ยั่งยืน เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ให้บริการซื้อขายและรับรองเครดิต REC อย่างครบวงจร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของพลังงาน สีเขียวในประเทศไทย และรองรับกลุ่มบริษัท RE100 ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย
ดร.จิราพร ศิริคำ กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการซื้อขาย REC ผู้ขายจะต้องลงทะเบียนตามมาตรฐาน I-REC รวมถึงยื่นขอการรับรองโรงไฟฟ้า และการรับรอง REC มาที่ กฟผ. เพื่อตรวจสอบและส่งมอบ REC ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อ สำหรับวิธีการคำนวณหน่วยการซื้อขาย REC คิดจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้จริง คือ ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 REC โดยหลังจากนี้ กฟผ. และ I-REC มีแผนสร้างความรู้ความเข้าใจกลไกการตลาด REC ให้กับผู้เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “REC Market Focusing on Thailand” ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดการลงทะเบียนร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ irecissuer.egat.co.th
การให้บริการซื้อขายและรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ สร้างงานสร้างรายได้ คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและยั่งยืน ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDC) ตามที่ให้คำมั่นในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573
Source: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)