การพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ของไทย ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้รับการรับรองจากกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการจัดงาน Asia IoT Business Platform ครั้งที่ 25 โดยมุ่งเน้นด้าน Smart City ตามนโยบาย Thailand 4.0 Initiatives ที่เกี่ยวกับ Internet of Things (IoT) ขององค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานบริการสาธารณะ
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดงาน Asia IoT Business Platform โดยมี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาว่า “ภาครัฐประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับยุคใหม่ของดิจิทัลและให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานดิจิทัลในอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ได้มีโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมนกลยุทธ์ดิจิทัลมาใช้โดยเดินหน้าในจังหวัดเมืองท่องเที่ยวทั้ง 4 ภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และภูเก็ต เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาที่สร้างขึ้นโดยอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ เข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับธุรกิจของตน และเพื่อนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้วยโปรแกรมดิจิทัลด้วย”
ทั้งนี้ งาน Asia IoT Business Platform เป็นการรวมตัวที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งได้จัดแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก รวมไปถึงหน่วยงานราชการ บริษัทโทรคมนาคม และผู้ให้บริการเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้เป็นข้อมูลที่สามารถตอบโจทย์แบบวิเคราะห์ระดับเชิงลึกและการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการพัฒนากระบวนการทำงาน/การผลิต และการนำเครื่องจักรมาใช้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้หน่วยงานในประเทศไทยอยู่ในการตลาดการแข่งขัน และดำเนินการให้สอดคล้องเป็นไปตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0
ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจของเราคือการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยในท้องถิ่นได้รับโอกาสในการแบ่งปันโครงการที่ดำเนินการอยู่ และเปิดตัวเองให้รู้จักกับกลยุทธ์ดิจิทัล เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับระบบดิจิทัลของเศรษฐกิจในประเทศไทย โดย DEPA ของเราจะเป็นศูนย์กลางในการบริการดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมจาก EEC รวมถึงการเชื่อมโยงส่งเสริมพัฒนาคน พันธมิตร ร่วมกับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ที่ต้องเกิดความร่วมมือกันพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ซึ่งจะเป็นข้อมูลแบบอัจฉริยะ และรวมถึงบริหารจัดการขยะของเมืองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของเมืองให้น่าอยู่”
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ SMART City โดย กองบรรณาธิการ