องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อน BCG Economy Model” ขึ้นภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” (Thailand Research Expo 2020) ณ ห้อง Lotus Suite 9 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนผู้ที่สนใจได้เข้าใจ ถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG Economy Model ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนไทยในปัจจุบันว่ามีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรม อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงได้เข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศตามหลักการ BCG Economy Model
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน กว่า 40 องค์กร ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยเกือบทุกกลุ่ม ซึ่ง TBCSD มุ่งมั่น “ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน”รวมถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปัจจุบันสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินงานในรูปแบบสถาบันวิชาการอิสระ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือของภาคีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรื่องการอนุรักษ์ การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล อันเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในปี 2562 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามผ่าน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความ เหลื่อมล้ำ ดังนั้น ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศที่มีความโดดเด่นด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่มาเสริมการดำเนินงานให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาต่อยอด และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Economy Model” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ BCG Model มีความสอดคล้องและตอบโจทย์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติได้อย่างน้อยถึง 5 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอีกด้วย
BCG Economy Model ถือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนที่สำคัญ (BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine) เนื่องจากมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการจ้างงานมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนการจ้างงานรวม และครอบคลุม 4 สาขา คือ สาขาเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า
BCG Economy Model จึงเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีขององค์กรภาคธุรกิจไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD จึงพร้อมขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคธุรกิจในเรื่องนี้ การเสวนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อน BCG Economy Model” ในครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากวิทยากร 4 ท่านจาก 4 หน่วยงานภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economy Model ได้แก่
นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BBGI ในฐานะบริษัทที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจทางด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพของกลุ่มบางจาก ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินธุรกิจการผลิต Biodiesel และ Ethanol เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้น BBGI ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้ BCG Economy Model เพิ่มเติม โดยได้นำเอาความรู้ทางด้าน Synthetic Biology ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในโลก เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเป็นการสอดรับกับนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดัน New S-Curve ด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นายสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน อันได้แก่ การมีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจพร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศเติบโตไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัทฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้สังคมและองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน มุ่งเน้นแผนและกลยุทธ์ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจ เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตใน 3 เสาหลักของธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อให้เป็นไปตามแผนและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่วางไว้สู่การเป็น Leading Green Company และ Green Flagship ของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และเป็นผู้นำของประเทศในการขับเคลื่อน Bioeconomy ควบคู่ไปกับการพัฒนาตามโมเดล BCG ของประเทศไทย
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) (ประธานโครงการ PPP Plastics) กล่าวว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน การนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงมาตรการต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยการเปลี่ยนแปลงจะต้องมาจากทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ (top down) และการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภค (bottom up) ให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในความสำคัญ กระบวนการและผลิตภัณฑ์ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อประเทศก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ผ่านการส่งมอบผลิตภัณฑ์รวมถึงการให้บริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมปลูกฝังค่านิยมด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานภายในองค์กรให้มีส่วนร่วมต่อหลักการ Low Carbon and Green Society นอกจากนี้ ออริจิ้นฯ ได้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สู่การสร้างเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด SMART ECO ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่าด้วยเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานไฟฟ้า และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และยังให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นและพัฒนาโครงการอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผู้พักอาศัยและชุมชนโดยรอบเป็นสำคัญ
โดยมีนางสร้อยฟ้า ตรีรัตนนุกูล พิธีกรผู้ดำเนินรายการ Smart Energy ช่องไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้วิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง BCG โมเดลได้ให้องค์ความรู้ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการขับเคลื่อน BCG Economy Model อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสมาชิกของ TBCSD องค์กรธุรกิจอื่นๆ หน่วยงานของรัฐ นักเรียน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานเสวนาฯ