การวางแผนด้านสิ่งแวดล้อม


เรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย “อย่างได้ผลนั่น” นอกจากจะต้องมี “นโยบาย” ที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เรายังจะต้องมีการวางแผนเพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลด้วย การวางแผนสำหรับบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (และความปลอดภัย) เพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษ และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงควรมุ่งเน้นใน “หลักการป้องกัน” มากกว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุ

การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ จึงต้องเริ่มต้นที่ต้นเหตุที่จะทำให้เกิดมลพิษด้านต่างๆ มีขั้นตอนในการระบุหรือชี้บ่งประเด็นด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ กระบวนการผลิต รวมทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบริการและประเมินหาประเด็นที่ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิตสินค้า ปริมาณน้ำที่ใช้ จำนวนสารเคมีที่ใช้ จำนวนเศษซากที่เหลือ ขยะ น้ำเสีย กลิ่น เป็นต้น

เราจะต้องจัดทำขั้นตอนในการทำความเข้าใจกับกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยควรจัดทำทะเบียนกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง และมีการสื่อสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ นอกจากนี้ยังต้องมีวิธีการติดตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่ออกใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรเรา

การวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมในการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้สอดคล้องกับนโยบาย กฎหมาย และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีนัยสำคัญก็ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยวัตถุประสงค์ดังกล่าวควรมีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนที่สุด ส่วนเป้าหมายควรจัดทำเป็นเป้าหมายรวม และมีการกระจายเป็นเป้าหมายย่อยในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เป้าหมายที่ดีควรจะยึดหลัก “SMART” ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ เป้าหมายนั้นจะต้องมีความ เฉพาะเจาะจง (Specific) วัดผลได้ (Measurable) บรรลุได้ (Achievable) สัมพันธ์กับนโยบาย (Relevant) และมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จ (Time)

เมื่อมีการวางแผนและทำการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็จะต้องมีการนำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย โดยมีการกระจายเป้าหมายและชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนรับทราบและมีความเข้าใจตรงกัน เพื่อจะได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้

เราต้องกำหนดวิธีการเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน และการบันทึกผลการดำเนินงานตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดการตรวจติดตามความคืบหน้าแผนงาน และสรุปความคืบหน้าของผลการดำเนินงานเทียบกับแผนงาน

ผู้บริหารระดับสูง จะต้องทำการทบทวนและปรับปรุงวัตถุประสงค์ เป้าหมายและแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้วย หากปรากฏว่าผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนงาน เช่น ล่าช้า ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ไม่มีการดำเนินงานตามแผน ก็จะต้องมีการวิเคราะห์หาสาเหตุแล้วกำหนดมาตรการหรือวิธีการแก้ไข นำมาทบทวนและปรับปรุงแผนงานเพื่อจะได้ดำเนินการอย่างได้ผลและบรรลุเป้าหมายต่อไป

ในอนาคตหากมีการพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรม กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ เราก็จะต้องทบทวนแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องตามเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็หนี “วงจรแห่งการปรับปรุงของเดมมิ่ง” (Deming Circle) ไม่พ้น ก็คือ วางแผน (Plan) ลงมือทำ (Do) ตรวจสอบผล (Check) และปรับปรุงให้ได้ตามแผน (Action) หรือ “วงจร” PDCA ครับผม!


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Industry โดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save