ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ในภาคพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ และได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล (B100) ให้ได้ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับ CPO น้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน หรือประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี
กรมธุรกิจพลังงาน จึงได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย โดยได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 และประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน (B100) และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของประเทศไทยสำหรับรถดีเซลทั่วไป โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร
จากข้อมูลในปัจจุบัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 โดยน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ประเภท มีคุณภาพเหมือนกันทุกประการ แต่มีความแตกต่างกันที่สัดส่วนผสมไบโอดีเซล คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา หรือ B7 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 6.6 – 7% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10% และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 19 – 20%
ประโยชน์และข้อดีของการรณรงค์ใช้น้ำมันดีเซล B10
- สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบในประเทศ ปริมาณการใช้ (ภาคพลังงาน และเพื่อการบริโภค)
- สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน (ทำให้ราคาสูงขึ้น)
- ช่วยลดมลพิษ (ปริมาณฝุ่น PM 2.5) เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น
เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ดังนั้น นโยบายการเพิ่มสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าได้มากขึ้นตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ปกติการใช้ B7 วันละประมาณ 60 ล้านลิตร ดังนั้น หากดีเซล B10 เป็นดีเซลฐาน ทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการใช้ดีเซล หรือประมาณวันละ 1.8 ล้านลิตร
การใช้น้ำมันดีเซล B10 จะกระทบเครื่องยนต์หรือไม่ รถรุ่นไหน ยี่ห้อไหน ปีไหน ที่สามารถใช้ได้บ้าง
การใช้น้ำมันดีเซล B10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน
จากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2562 ประเทศไทยมีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ประมาณ 10.5 ล้านคัน เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้ ประมาณ 5.3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 50% ส่วนที่เหลือจะเป็นรถยนต์ดีเซลราคาแพง เช่น Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot Volvo (เล็ก) และรถเก่ามากๆ ซึ่งเป็นรถที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว โดยรถรุ่นที่ไม่สามารถเติมน้ำมัน B10 ได้เหล่านี้ ยังสามารถเติมน้ำมันดีเซล B7 ได้ ซึ่งยังมีจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมันทั่วไป
ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ทราบข้อมูลรุ่นรถ และต้องการหาข้อมูลว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่สามารถใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้หรือไม่ สามารถตรวจสอบรุ่นรถได้ที่เว็บไซด์ กรมธุรกิจพลังงาน www.doeb.go.th หรือติดต่อสอบถามโดยตรงที่ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ
ดาวน์โหลดเอกสาร ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒
แผนการส่งเสริมน้ำมันดีเซล B10
- 1 ต.ค.62 เริ่มจำหน่าย B10 ราคาถูกกว่า B7 ที่ 2 บาท/ลิตร
- 1 ธ.ค.62 ประกาศให้ B100 ที่ใช้เป็นส่วนผสมในดีเซลเหลือชนิดเดียว
- 1 ม.ค.63 ทุกคลังน้ำมันผลิต B10
- 1 มี.ค.63 ดีเซล B10 มีจำหน่ายทุกสถานี
Source: ข้อมูล กระทรวงพลังงาน