คำกล่าวโบราณที่ว่า “กวาดขยะซ่อนไว้ใต้พรม” ก็ถือว่าสะอาดแล้ว แต่แท้ที่จริงปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ต่างอะไรกับการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะจาก COVID-19 ซึ่งภาครัฐเองก็ตกที่นั่งกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เนื่องจากชุมชนไม่ยอมรับเตาเผาขยะติดเชื้อ จึงไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ ส่วนเตาเผาขยะติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน รัฐก็ผ่อนผัน ไม่ได้ตรวจมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไดออกซิน (Dioxins) ที่ปลดปล่อยจากการเผาตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
จึงได้เวลาที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการจัดการขยะติดเชื้อและขยะจากสถานพยาบาล (Medical Waste) ในรูปแบบของเตาเผาขยะมาเป็นระบบไฮโดรเทอร์มอลทรีตเมนต์ (Hydrothermal Treatment : HTT) ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการเผาขยะแบบโรงไฟฟ้า แต่ HTT ใช้ความร้อนจากไอน้ำความดันอากาศ และระยะเวลา เพื่อเปลี่ยนสภาพขยะจนเป็นมวลสารเล็กๆ จึงปลอดภัยจากเชื้อโรค และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดีที่มีค่าความร้อนสูง
เทคโนโลยี Hydrothermal Treatment ได้มีการศึกษาและพัฒนาในเมืองไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดย รศ. ดร.สุธรรม ปทุมสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
“ได้เวลาที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยน เทคโนโลยีการจัดการขยะติดเชื้อและขยะจากสถานพยาบาลในรูปแบบของเตาเผาขยะ มาเป็นระบบไฮโดรเทอร์มอลทรีตเมนต์ (HTT) ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการเผาขยะแบบโรงไฟฟ้า แต่ HTT ใช้ความร้อนจากไอน้ำ ความดันอากาศ และระยะเวลา เพื่อเปลี่ยนสภาพขยะจนเป็นมวลสารเล็กๆ จึงปลอดภัยจาก เชื้อโรค และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก”
มหันตภัยไดออกซิน (Dioxins)ไดออกซิน คือ กลุ่มสารเคมี 2 กลุ่ม ที่เจือปนอยู่เมื่อเราเผาขยะ ได้แก่ คลอรีนและสารอินทรีย์ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายๆ กัน ไดออกซินเกิดจาก ผลข้างเคียงของกระบวนการเผาไหม้ สารไฮโดรคาร์บอนร่วมกับสารประกอบ คลอรีน ถึงแม้เตาเผาขยะจะเผาใน อุณหภูมิสูง ก็ไม่อาจจัดการกับไดออกซิน ดังนั้นจึงต้องมีระบบดักจับไดออกซินแล้วเผา โดยเตาเผาส่วนใหญ่เป็น เทคโนโลยีเก่าๆ ไม่มีส่วนนี้ ส่วนที่ อันตรายคงไม่ต้องบรรยายเพราะท่านเข้าใจดีแล้วว่า ไดออกซินคือสารก่อมะเร็ง ส่งผลต่อระบบประสาท ระบบ สืบพันธุ์ และทารกในครรภ์ สิ่งที่อันตราย กว่านั้นก็คือสารพิษชนิดนี้สามารถเกาะอยู่กับอนุภาคควันไฟ ลอยในอากาศ เข้าไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อายุยืนยาว ไม่ย่อยสลายง่ายในสิ่งแวดล้อม และ จะไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เช่น สัตว์เลี้ยง จนท้ายที่สุดอยู่ในตัวเรา เพราะมนุษย์เรากินทุกอย่าง |
เนื่องจากการเผาขยะติดเชื้อควบคุมมลพิษได้ยาก และสารไดออกซินมีอันตรายสูง การทดสอบและควบคุมทำได้ยาก ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงได้นำเทคโนโลยีไฮโดรเทอร์มอลทรีตเมนต์ ซึ่งมีต้นทุนไม่แตกต่างจากเตาเผาขยะและเป็นที่ยอมรับของชุมชนมาใช้แทน สิ่งสำคัญก็คือ จะช่วยให้ ชุมชนรอบโรงงานกำจัดขยะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยจากมลพิษ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบขยะติดเชื้อ ขยะจากสถานพยาบาล รวมทั้งขยะจากการรักษา COVID-19 จึงควรมีการพิจารณานำเทคโนโลยีที่ปลอดภัยเข้ามาแก้ไขปัญหาขยะโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับ นักท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่ยุค Bio-Circular-Green Economy
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข