ศูนย์วิจัย มจธ. เผยฐานข้อมูลและกฎหมายควบคุมการค้าขายสัตว์ป่าที่เข้มแข็ง ช่วยลดการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน


จากอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่าโรคระบาดร้ายแรงหลายๆครั้งที่เกิดขึ้นในโลกนั้น มักจะมีพาหะนำโรคซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ป่า ทั้งนี้อัตราการเกิดโรคระบาดจากสัตว์มาสู่มนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น จากการวิจัยบ่งชี้ว่าเกิดจากการที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่อาศัยเพื่อตั้งถิ่นฐานหรือการทำเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม ทำให้มีโอกาสเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น

รศ. ดร.จอร์จ แอนดรูว์ เกล หัวหน้าศูนย์วิจัย Conservation Ecology และ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัย Conservation Ecology มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยา การอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาวิจัยในหัวข้อ การระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) บ่งชี้ความจำเป็นของการเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย (COVID-19 highlights the need for more effective wildlife trade legislation) เป็นงานวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยระดับนานาชาติและจัดทำเป็นวารสารวิจัยเผยแพร่เมื่อปี 2020 ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดค้าขายสัตว์ป่า ตลอดจนประเทศต้นทางและปลายทางของการลักลอบค้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์ป่ามาสู่คนและกลายพันธุ์จนกลายเป็นการระบาดจากคนสู่คนด้วยกันเองในวงกว้างนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นการจุดประกายให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ หันมาให้ความสนใจเรื่องการค้าสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น หากมีนโยบาย หรือ การจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะสามารถนำไปสู่นโยบายหรือมาตรการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ในอนาคต ตลอดจนลดปัญหาทางสาธารณสุขที่ส่งผลต่อสุขภาพ การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว การทำการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่ระบาดวิทยาของโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่มุ่งเน้นการศึกษาจากหลักฐานของการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนที่เคยเกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้หากมีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับ และการเก็บข้อมูลประชากรสัตว์ป่าเพื่อเตรียมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนที่การกระจาย การใช้พื้นที่และพันธุศาสตร์ระดับประชากรของสัตว์ป่าในอนาคต เพื่อความสะดวกและแม่นยำต่อการติดตามสาเหตุและจุดเริ่มต้นหากเกิดกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อ หรือหากมีกรณีที่ต้องพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าเมื่อมีการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้

ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ.ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยของศูนย์วิจัย Conservation Ecology กล่าวเสริมว่า งานวิจัยทางพันธุศาสตร์ของศูนย์ในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นด้านการประเมินผลกระทบของการเกิดหย่อมป่า (Habitat Fragmentation) อันเนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมในอดีตและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พื้นที่ในปัจจุบันต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม โครงสร้างประชากร และโอกาสของการปรับตัวและอยู่รอด (Resilience) ของประชากรสัตว์ป่า และพัฒนาเทคนิคทางอณูชีววิทยาเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสในกลุ่มสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก (Small Carnivore) ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนควบคู่กัน ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์วิจัยมีโครงการที่ชื่อว่า การประยุกต์ใช้ข้อมูลทางพันธุศาสตร์เพื่อระบุแหล่งที่มาและเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและปราบปรามการค้านากผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Molecular tracing of confiscated otters for monitoring and combating illegal trade in Southeast Asia) เป็นโครงการที่มีการเก็บตัวอย่างนากในธรรมชาติของประเทศไทยและจากการค้าในประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม เพื่อสร้างฐานข้อมูลพันธุศาสตร์ (Reference Genetic Profiles) ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการระบุแหล่งที่มาของนากจากการลักลอบค้าเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง (illegal pet trade) ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนากและอาจเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน หากการวิจัยนี้สำเร็จจะสามารถใช้เป็นต้นแบบในการทำแผนที่การกระจายตัวทางพันธุกรรมและความต่อเนื่องของถิ่นอาศัย (Mapping spatial pattern of population genetic structure and habitat connectivity) กับสัตว์ชนิดอื่นที่มีสถานภาพถูกคุกคามและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ต่อไป

ลงพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสในกลุ่มสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก (Small Carnivore) ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน

“งานวิจัยที่ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยมุ่งเน้นไปที่การค้าขายสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพบว่าหากต้องการลดแรงจูงใจในการค้าขายสัตว์ป่า อาจจะต้องให้ความสนใจกับการลดความต้องการบริโภคและใช้งานสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิต หรือเป็นชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์ป่าควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันนั้นการออกกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการต่างๆในการควบคุมการลักลอบค้าสัตว์ป่านั้นต้องขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ และต้องมีแนวทางรองรับผลกระทบที่จะตามมา งานวิจัยในครั้งนี้จึงไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องออกกฎหมายหรือข้อบังคับเช่นไร เพียงแต่ชี้ให้ตระหนักว่าการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้เท่านั้น” รศ. ดร.จอร์จ กล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดศูนย์วิจัย Conservation Ecology มจธ. ได้ขยายขอบเขตการศึกษาวิจัย โดยเริ่ม ศึกษาวิจัยในเรื่องของสัตว์ทะเล รวมทั้งได้มีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 5-6 ด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ที่ทำโครงการการศึกษาความรู้เฉพาะเรื่อง (Senior Project) ด้านนิเวศวิทยาและพันธุศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ (Conservation Genetics)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save