’บ้านปูฯ’ มุ่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ สะท้อนภาพลักษณ์ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน


ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน ณ สถานที่หนึ่งหรือระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่ง มีความสำคัญยิ่งทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม จากการช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศ ด้านเศรษฐกิจ เช่น การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อพัฒนาเป็นสินค้า สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ ตลอดจนด้านวัฒนธรรม จากการเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งทางตรง เช่น เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ตลอดจนให้คุณค่าทางอ้อม เช่น ช่วยรักษาคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ ควบคุมสภาพอากาศ

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่ง เอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก และตระหนักดีว่าการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมและลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพนั้นสำคัญต่อสังคมโลก ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายให้ผลการประเมินผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปในทิศทางบวก (Net Positive Impact) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 15 ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ทรัพยากรบนบกให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทีมงานบ้านปูฯ ขณะลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาและพัฒนาการประเมินผลกระทบเชิงบวก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ประเทศอินโดนีเซีย

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมุ่งศึกษาและพัฒนาแผนการดำเนินงานควบคู่กับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศในทุกพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และได้ประกาศนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อแสดงเจตจำนงในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งในและนอกกระบวนการผลิต สอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินธุรกิจของบ้านปูฯ ที่ว่า ‘อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม’ ”

เพื่อให้การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทฯ ได้วางแผนการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ตามแนวคิดขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ผ่าน 4 แนวทาง คือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Avoidance) ลดผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยมีมาตรการที่ชัดเจน (Minimization) ฟื้นฟูโดยการปลูกต้นไม้หรือพืชท้องถิ่นรายปี (Rehabilitation) และปลูกต้นไม้นอกพื้นที่โครงการ เพื่อชดเชยผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Offset)
นอกจากมาตรการและแผนการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว บ้านปูฯ โดย PT. Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในอินโดนีเซีย จัดทำโครงการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ITM Biodiversity Conservation Program) ขึ้น โดยร่วมมือกับสวนพฤกษศาสตร์เปอร์โวดาดี (Purwodadi Botanical Garden) เดินหน้าศึกษาพรรณพืชกว่า 1,000 สายพันธุ์ อาทิ กล้วยไม้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ และยังเป็นก้าวสำคัญต่อการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ มีการนำพันธุ์ไม้เนื้อแข็งต่างๆไปเพาะเลี้ยงในสวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าว รวมจำนวน 146 สายพันธุ์ เพื่อรักษาพืชสายพันธุ์ท้องถิ่น และคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่

นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและส่งต่อองค์ความรู้สู่ภายนอก บ้านปูฯ ยังจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุบาลพืชท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชน รวมถึงจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย โดยเล่มแรก เป็นหนังสือสำหรับเด็ก ชื่อว่า Green Mission in a Coal Mine มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กๆ และล่าสุด ในปี พ.ศ. 2561 ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “Ketika Tambang Mengelola Keanekaragaman Hayati (When Mining Conducts Biodiversity Conservation)” เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของธุรกิจเหมืองให้แก่หน่วยงานหรือผู้ที่สนใจ

โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัท บ้านปูฯ

ในขณะเดียวกัน บ้านปูฯ ตอกย้ำความตั้งใจของบริษัทฯ โดยการนำหัวข้อความหลากหลายทางชีวภาพ ครอบคลุมถึงความสำคัญ การใช้ประโยชน์ และแนวทางการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มาเป็นประเด็นหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนไทยหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง

“ด้วยมาตรการที่เคร่งครัด การดำเนินงานที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนอกและในกระบวนการผลิต ทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมที่ปลูกฝังความรู้ให้แก่ชุมชนและเยาวชน ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัทฯ บ้านปูฯ มั่นใจว่าองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางในการช่วยบริหารจัดการและป้องกันไม่ให้กิจกรรมของบริษัทฯ สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความตระหนัก ความใส่ใจ และความร่วมมือจากชุมชนและสังคม โดยบ้านปูฯ จะยังคงยึดมั่นในนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เดินหน้ารักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นางอุดมลักษณ์ กล่าวสรุป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save