อินโดรามา เวนเจอร์ส จับมือ มูลนิธิแจนแอนด์ออสก้า ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่โรงเรียนบ้านเกาะเหลา จังหวัดระนอง ซึ่งมีเด็ก ๆ กว่า 50 คน โดยเกาะเหลาแห่งนี้เป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ มีชุมชนชาวมอแกนอาศัยอยู่กว่า 200 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนการคัดแยกขยะรีไซเคิล และความตระหนักรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) จับมือ มูลนิธิแจนแอนด์ออสการ์ (Jan & Oscar Foundation) นำโดย ดร. ไมเคิล พาโดส ผู้จัดการมูลนิธิแจนแอนด์ออสการ์ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พร้อมกับเปิดการสอนด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย และสื่อประกอบการเรียนรู้ทั้งวีดีโอและการ์ตูนน่ารัก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวพฤติกรรมการทิ้งขยะพลาสติก เช่น ถุงพลาสติก ขวดเครื่องดื่ม โฟม รวมขยะอื่น ๆ ที่พบได้ในทะเล คือ เศษบุหรี่ และขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ที่คนทิ้งขยะตามสถานที่ท่องเที่ยวอย่างไม่เป็นระเบียบ จึงทำให้กลายเป็นขยะในทะเล ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมดังกล่าว
สำหรับคณะร่วมเดินทางได้สอนการคัดแยกขยะแก่เด็ก ๆ และวิธีการนำขยะกลับไปรีไซเคิลได้ใหม่ 100% ที่สามารถผลิตเป็นเส้นใยเส้นด้ายผลิตเสื้อผ้าได้ รวมถึงผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และนำไปผลิตเป็นขวดใบใหม่ที่ใสสะอาดพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ชาวมอแกนส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือ ยังชีพด้วยการหาปลา งมหอย จับปู และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน แต่พบว่าอวนของชาวประมงนั้นเต็มไปด้วยขยะทะเล ซึ่งไม่เฉพาะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลเท่านั้น แต่ยังได้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งการเดินหน้าโครงการพลาสติกทางทะเลและชุมชนชายฝั่งของทั้งสององค์กรนี้ เพื่อขับเคลื่อนชุมชน และสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมแนวคิดด้านการแยกขยะและรีไซเคิลให้กับเด็ก ๆ ชาวจังหวัดระนอง และชาวบ้านมอแกน ตลอดจนปลูกฝังแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
ดร. ไมเคิล พาโดส ผู้จัดการมูลนิธิแจนแอนด์ออสการ์ (Jan&Oscar Foundation) กล่าวว่า “เป้าหมายในการการกำจัดขยะออกจากทะเลอันดามัน แม่น้ำ หรือลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล และการนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสมนี้ก็เพื่อลดปริมาณขยะที่ลงสู่ท้องทะเล โดยจัดตั้งองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมการแยกขยะและแนวคิด 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle ผ่านโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดระนอง และหมู่บ้านมอแกน ทั้งนี้ จึงมีความหวังว่า จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ และชุมชนชาวมอแกนในการเชื่อมโยงประเพณีกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ในขณะที่ต้องจัดการกับปัญหาเรื่องขยะทะเลในปัจจุบัน ชาวมอแกนมีความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และจะไม่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้คุณค่า ซึ่งแนวคิดนี้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และสามารถต่อยอดเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง”
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวเป็นการให้ความรู้เด็ก ๆ ตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถตระหนักถึงปัญหา และเข้าใจว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ มีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของพลาสติกและวัสดุชนิดต่าง ๆ อย่างรู้คุณค่า สามารถใช้งานอย่างมีประโยชน์สูงสุด และแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ อีกทั้งยังส่งต่อความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ให้กับครอบครัวและชุมชนของได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน