ภาคอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในส่วนของภาคการผลิต ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านแรงงาน ด้านการส่งเสริมการตลาดควบคู่การผลิต ด้านการวางแผนงานและระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยงมาใช้ในการผลิตเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล เกิดเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคมของไทย และ สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA จัดงาน Maintenance and Resilience Asia 2019 ภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure ซึ่งจะช่วยยกระดับโรงงานไทยสำหรับภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานไทยในภาคคมนาคมให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงพัฒนาเศรษฐกิจ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นเติบโตสู่ระดับมหภาค
ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ IoT ฯลฯ มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาร่วมแสดงเพื่อให้เห็นถึงการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการโรงงานไทย

ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “แนวทางการดำเนินงานด้านหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยแนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นกลไกที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเท่าเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และสำหรับปัจจัยสำคัญที่ภาคการผลิตต้องให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ คือการคิดค้น และนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการผลิต การติดตามสถานการณ์การค้า และอุตสาหกรรมในระดับประเทศ”
สำหรับกระทรวงคมนาคมก็ได้นำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมทั้งระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าการขนส่งระบบราง การใช้พลังงานสะอาด ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตให้สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น

วิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “ในส่วนของการคมนาคมในปีถัดไป จะเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะการเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่งที่มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกันโดยเฉพาะในการเชื่อมต่อระบบขนส่งกับสิ่งอำนวยความสะดวก การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ การเดินทาง และการยกระดับ
คุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ตั้งแต่ในระดับภูมิภาค ส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องขับเคลื่อนระบบคมนาคมขนส่งให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาล”

ขณะที่ อัตสึชิ เทเรดะ ผู้จัดการอาวุโส สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า “ประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม เป็นพันธมิตรและฐานการผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ในฐานะพันธมิตรทางการค้าและเศรษฐกิจ จึงได้มีแนวคิดที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ ของไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมกับญี่ปุ่น จึงได้ร่วมกับบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นและภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรม “Maintenance and Resilience Asia 2019” เพื่อจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมๆ กับญี่ปุ่น”
อย่างไรก็ตาม การจัดงานดังกล่าวเชื่อมั่นว่าจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมภาคคมนาคม และในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของไทยแข็งแกร่งได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องความสมบูรณ์แบบของระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยจะช่วยให้รู้วิธีการจัดการกับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทั้งระบบขนส่ง ถนน อุโมงค์ สะพาน รถไฟ ฯลฯ นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการประชุมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เป็นกรณีศึกษาต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Scoop โดย กองบรรณาธิการ