ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี คว้ารางวัล “Thailand Green and Smart Mining Award 2019” ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดมาใช้ในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการเหมือง เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไทย แสดงถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการทำเหมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดำเนินกิจการ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม
ชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี อีกทั้งได้ให้ความสำคัญกับการทำเหมืองหินปูนให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด หลักการสำคัญคือการปฏิบัติงานตามการประเมินวงจรชีวิตของเหมือง ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการทำเหมือง และหินปูนที่ผลิตจากเหมืองนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด ตามหลักการสำคัญที่นำมาปรับใช้เพื่อให้สามารถทำเหมืองควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชนโดยรอบในทุกขั้นตอนการทำเหมือง นั่นคือ Quarry Life Cycle ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ การคัดเลือกที่ตั้งโครงการ การออกแบบ การทำเหมือง และการฟื้นฟูและปิดเหมือง
ยึดหลักการทำงานด้วยตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักในการทำงานนั้น คุณชนะ กล่าวว่า ได้ยึดหลักภายใต้ “อุดมการณ์ 4” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของทุกธุรกิจในเครือเอสซีจี ได้แก่ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของ คน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม จากที่ได้เห็นรุ่นพี่ในองค์กร คิด ปฏิบัติ และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยยึดความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นตัวตั้ง ทุกธุรกิจที่เราไปดำเนินงาน เราจะเน้นการฟื้นฟูและดูแลพื้นที่ ไปพร้อมๆ กันเสมอโดยเริ่มต้นจากกลุ่มวิศวกรของเอสซีจีที่ลงพื้นที่พูดคุย กับชุมชน ทำให้พบว่าชุมชนมีความต้องการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมายาวนาน จึงได้น้อมรับเสียงสะท้อนในด้านต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการปิดเหมือง ที่นอกจากจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว ยังต้องเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม พัฒนาพื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ให้เป็นเหมืองที่อยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และชาวบ้านยอมรับการทำงานในแต่ละพื้นที่ เริ่มต้นจากการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ ตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยของชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเมื่อถึงวันสุดท้ายของการประกอบกิจการก็มีแผนฟื้นฟูเหมืองภายหลังดำเนินกิจการแล้วเสร็จ มีแผนการทำงานที่สามารถให้รายละเอียดแก่ชุมชน ชาวบ้านรับทราบอย่างเป็นระบบ เช่น ภายหลังจากการทำเหมืองแล้วจะปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงทัศนียภาพของพื้นที่รอบเหมืองให้มีความงดงาม สร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับชุมชน รวมไปถึงนำคณะแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพของชาวบ้านในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับภาคชุมชน, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดูแลเหมืองแร่ สีเขียว เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรแร่ของชาติให้เกิดสมดุลร่วมกันอย่างยั่งยืน
รางวัล Thailand Green and Smart Mining Award 2019
จากเจตนารมณ์ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ที่มุ่งประกอบกิจการ เหมืองหินปูนที่รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ได้รับรางวัล Thailand Green and Smart Mining Award 2019 จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นต้นแบบ (Best Practice) ในการบริหารจัดการเหมืองในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทั้งเหมืองหินปูนทุกเหมืองของเอสซีจียังได้รับ EIA Monitoring Awards ระดับยอดเยี่ยม และ Green Mining Awards มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นไปตามเกณฑ์การรับรางวัล Thailand Green and Smart Mining ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับพิธีมอบรางวัลดังกล่าวได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้น ในงาน “มิติใหม่ เหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 2 :ก้าวใหม่จากนโยบาย สู่การปฏิบัติ”
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 92 มีนาคม-เมษายน 2562 คอลัมน์ SPECIAL Scoop โดย กองบรรณาธิการ