องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชวนรณรงค์ท่องเที่ยวอนุรักษ์ช้างป่า ร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ปางช้างฟอลโลวอิ้งไจแอนท์ เกาะลันตา จังหวัดกระบี
จากสถานการณ์โรคระบาดโคโรน่าไวรัส COVID-19 เป็นเสมือนม่านเมฆหมอกที่กำลังบั่นทอนความรุ่งเรืองของฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นของปีนี้ ตามมาด้วยข่าวร้ายที่ปางช้างเกือบหนึ่งร้อยแห่งทั่วภาคเหนือ รวมถึงปางช้างที่กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่างก็กำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากการขาดหายของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน หลายแห่งที่ไม่สามารถแบบรับภาระได้ไหวก็จำเป็นต้องปิดตัวลง
ตลอดระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร จากท่าเรือหลักบนเกาะลันตา ลัดเลาะลงใต้ตามแนวป่าเขาอันร่มรื่นสลับกับชายหาดที่สวยงาม สองข้างทางเราจะพบปางช้างหลายแห่งเปิดบริการรับนักท่องเที่ยว แทบทุกแห่งล้วนมีจุดขายคือการขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง เล่นน้ำกับช้าง หรือการแสดงของช้าง ซึ่งเป็นโปรแกรมทัวร์ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมี “ชเร สังข์ขาว” หนุ่มชาวใต้ อดีตเจ้าของปางช้างท่องเที่ยวที่เคยเน้นถึงความสุขของคนมากกว่าความสุขของช้าง บอกเล่าเรื่องราวการดำเนินธุรกิจกว่าสิบปีที่เขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับช้าง แต่ก็เพราะช้างที่ได้จุดประกายให้เขาเปลี่ยนความคิดการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ นั่นคือการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมแบ่งปันรอยยิ้มผ่านการสังเกต เรียนรู้ในวิถีชีวิตและความสุขของช้าง ณ ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ ปางช้างที่มอบมิตรภาพพร้อมความใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ทั่วพื้นที่กว่า 45 ไร่ในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นมรดกตกทอดจากพ่อของเขา “พื้นที่ที่นี่ เรียกว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก บางทีได้ยินเสียงนกดังกลบเสียงที่เราคุยกัน ตอนนั้นเวลาที่นักท่องเที่ยวมาก็จะพานั่งหลังช้าง อาบน้ำช้าง เราก็ทำแบบนี้มาจนชิน เพราะปางที่อื่นที่ผมรู้จักเขาก็ทำกันมาแบบนี้ ต่อมาผมเริ่มสังเกตเห็นช้างที่อยู่กับเราทุกวัน ไม่สดใสร่าเริง บางเชือกเริ่มไม่เชื่อฟังควาญ ผมอยู่กับช้างทุกวันทำไมผมจะไม่รู้ว่าช้างชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ที่ผ่านมาเราบังคับช้างจนเราชิน ทั้งๆ ที่ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดมากนะ แค่พูดบอกกันเขาก็ฟังเราแล้ว”
ชเร เล่าขณะนำเดินหน้าตามรอยเท้าช้างพร้อมย้อนเล่าถึงอดีต “ช้างบางทีก็มีเผลอเหมือนคนนะครับ เมื่อก่อนผมกังวลมากเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปใกล้ชิด ไปให้อาหารหรืออาบน้ำให้ช้าง นักท่องเที่ยวบางคนแอบเดินไปข้างหลังช้างตอนที่ช้างจะกำลังล้มตัวเล่นน้ำ ผมเห็นแล้วต้องรีบตะโกนห้ามช้างทันที ช้างก็ตกใจ ผมก็เครียด นักท่องเที่ยวก็เสี่ยงอันตราย เหตุผลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงที่นี่ และไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็นิยมขึ้นเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวเริ่มมองว่าการขี่ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ผมแอบหวังมาตลอดกับความฝันที่จะเปลี่ยนให้ปางช้างแห่งนี้เป็นปางช้างแห่งมิตรภาพของคนกับช้าง โชคดีเรามีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผมเห็นความตั้งใจขององค์กรฯ เห็นผลงานในการพัฒนา ช้างชิล ปางที่เชียงใหม่ให้มาเป็นปางช้างที่ใส่ใจช้างอย่างแท้จริง หลังจากที่ผมตกลงร่วมโครงการนี้ เราทำงานใกล้ชิดกัน แลกเปลี่ยนมุมมองหลายอย่าง ทั้งปรับปรุงรูปแบบการดูแลช้าง รวมถึงจนถึงการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ลองเข้าไปดูใน Followinggiants.net มีภาพช้างน่ารักๆ พร้อมเรื่องราวของที่นี่และรายระเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ” ชเร เผยถึงที่มาของความเปลี่ยนแปลงนี้
ช้างอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติและวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนาน และเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เมืองไทยแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของช้าง แต่ทุกวันนี้ยังมีช้างอีกจำนวนมากที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงเท่านั้น ช้างยังต้องถูกบังคับให้ทำงานหรือแสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติของ เช่น ขี่หลังช้าง แสดงโชว์ ฯลฯ พฤติกรรมตามธรรมชาติก็ต้องถูกเปลี่ยนมาเป็นความกลัว เพราะช้างคือสัตว์ป่าไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักแสดง ช้างในปางช้างได้ที่ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กให้กลัวคน พร้อมการฝืนธรรมชาติทั้งกายใจ บังคับให้บรรทุกแขกหนักๆ วันละหลายสิบรอบ นักท่องเที่ยวรุมล้อมจำนวนมากจนไม่ได้หยุดพักให้ผ่อนคลาย ล่ามโซ่สั้นๆ กินอาหารซ้ำ ๆ ช้างทั้งเครียดทั้งเหนื่อย ควาญช้างก็ต้องระแวงตลอดเวลาเพราะต้องระวังทั้งช้างทั้งนักท่องเที่ยว เจ้าของปางช้างก็ต้องกังวลว่าช้างอาจเครียดจนถึงขั้นทำร้ายนักท่องเที่ยวได้ ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบก็อาจถึงขั้นต้องปิดปางช้างก็เป็นได้
ชเร เล่าต่อว่า“ผมทำปางช้างมานาน นานจนมั่นใจว่าปางช้างเชิงอนุรักษ์เป็นเทรนระดับโลกที่มาถึงไทยแล้ว มาพร้อมแนวโน้มและโอกาสที่จะโตขึ้นได้อีกมาก เดือนก่อนผมเจอนักท่องเที่ยวที่เคยมาเมื่อหลายปีก่อนและเพิ่งกลับมาที่นี่อีกครั้ง เขาเดินตรงเข้ามองหน้าและถามผมว่าทำไมพึ่งเปลี่ยน ครอบครัวเขาอยากเที่ยวปางช้างแบบนี้ในไทยมานานมากแต่ไม่เคยหาเจอ พูดเสร็จเขากับครอบครัวก็พากันไปนั่งดูช้างอีกเป็นชั่วโมง นักท่องเที่ยวชอบไม่ใช่เฉพาะสถานที่นี้ เพราะหลายคนเขียนชมแนวคิดการทำปางช้างแบบนี้ใน ทริปแอดไวเซอร์”
ออเดรย์ มิเรีย ผู้อำนวยการโครงการสัตว์ป่าขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ปางช้าง ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ และ ช้างชิล ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของช้างเหล่านี้ ให้มีโอกาสได้แสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติและมีสังคมเหมือนกับช้างที่อาศัยอยู่ในป่า ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นักท่องเที่ยวจะได้เห็นและได้ศึกษาช้างในรูปแบบที่เขาใช้ชีวิตอยู่แบบใกล้เคียงกับวีถีธรรมชาติของเขามากที่สุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปางช้างต้นแบบทั้งสองแห่งนี้จะช่วยจุดประกายให้ปางช้างแห่งอื่นได้ปรับเปลี่ยนรูปได้โดยเร็ว”
ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ ดูแลช้างทั้งหมดสี่เชือก สาว โชค จันทร์ และ ธันวา (ที่กำลังกลับมาจากโรงพยาบาล) ช้างแต่ละเชือกถูกปล่อยอิสระ ตื่นเช้ามาก็เดินตามอัธยาศัยไปพร้อมกับควาญช้างคู่ใจ ชอบอยู่เนินไหน ร่มไม้ต้นไหน อยากกินผลไม้อะไร ควาญเพียงเดินตามเป็นเพื่อนช้าง นอกจากกิจกรรมเดินดูช้างตามแบบ ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ ปางช้างแห่งนี้ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น รางอาหารที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้นักท่องเทียวร่วมวางกล้วย อ้อย บรรดาผลไม้ช้างชอบ แล้วขึ้นมารอดูบุฟเฟ่ต์ของช้างที่หอชมช้าง พร้อมร่วมฟังเรื่องราวที่มาของช้างแต่ละเชือก นักท่องเทียวมีโอกาสได้พูดคุยกับควาญช้าง เพื่อแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาของควาญช้างกับนักท่องเที่ยว เช่น วิธีการสื่อสารกับช้าง การดูแลช้าง และความรู้การรักษาช้างด้วยสมุนไพร แถมได้ร่วมโครงการปลูกป่ากับกิจกรรมกรรม อาสายิงเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Bomb)
ถ้าถามถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวนี้ แต่ความท้าทายคือลูกค้าคนไทย “ชเร” บอกว่า อยากให้คนไทยได้มีโอกาสมาลองสัมผัสปางช้างในรูปแบบนี้บ้าง “ตั้งแต่เปิด ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ยังมีลูกค้าที่เป็นคนไทยน้อยมาก หากคนไทยเริ่มมาท่องเที่ยวในรูปแบบก็จะดียิ่งขึ้น ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีความสุขทั้งช้างทั้งคน เรามองว่ามันไม่ใช่แค่เดินตามรอยช้างอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่าเรากำลังเดินทางตามรอยยิ้มของช้างไปด้วย เพราะไม่ว่ามันจะทำอะไร เดินไปทางไหน รอยยิ้มของช้างก็สร้างรอยยิ้มให้กับเราด้วยเช่นกัน”
แต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สุดตอนนี้คือ สถานการณ์โคโรน่าไวรัส ที่ “ชเร” และทุกชีวิตในปางช้างกำลังเผชิญ “นักท่องเที่ยวลดลงไปเยอะมาก จากเดิมเมื่อก่อนเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าวันละ 10 คน ตอนนี้ลดเหลือแค่วันละคนสองคน บางวันก็ไม่มีเลย ตั้งแต่มีข่าวเรื่องไวรัส มันมีผลกระทบต่อปางช้างจริง เพราะการดูแลช้างก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เรื่องอาหารซึ่งต่อเดือนก็เยอะอยู่ ไหนจะค่าควาญช้างและพนักงานดูแล ผมหวังอยากให้ปางช้างแห่งนี้เป็นที่รู้จักให้ได้มากที่สุด อยากขอให้พี่ๆสื่อมวลชนช่วยโปรโมทให้เรา ปางนี้ช้างอาจไม่เยอะ ไม่มีกิจกรรมมากมายเหมือนปางอื่น แต่ผมกล้าพูดได้เลยว่าช้างในปางแห่งนี้มีความสุขจริงๆ ทุกวันนี้ผมและควาญช้างทุกคนที่ ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ พยายามอย่างมากในการประคับประคองทุกชีวิตให้มีความสุขที่สุด” ชเร กล่าวปิดท้าย
ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ เกาะลันตา จ. กระบี่ ได้ร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) โดยได้วางแผนทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงพื้นที่ในปางกับเหมาะสมกับวิถีชีวิตช้าง องค์กรฯ ได้เชิญผู้เชียวชาญด้านช้างและสัตว์แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าระดับโลกเดินทางมาให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง อาทิ ยกเลิกกิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่ช้างและอาบน้ำช้าง ฯลฯ และปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรกับช้างมากยิ่งขึ้น เช่น เดินชมช้าง เตรียมยาสมุนไพรให้ช้างเพื่อที่ช้างจะได้มีชีวิตอยู่ใกล้เคียงกับวิถีธรรมชาติของพวกเขามากที่สุด
ติดตามได้ที่ปางช้าง Following Giants ได้ที่www.followinggiants.net หรือ www.facebook.com พิมพ์ “Following Giants” หรือ www.instagram.com/followinggiants หรือ www.tripadvisor.com พิมพ์ “Following Giants”
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th / |