ทีมนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่วังน้ำเขียวนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ร่วมหารือผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ สู่ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่ากาแฟต่อไปในอนาคต
นครราชสีมา : ระวีวรรณ เลิศสุขสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจองค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยนักวิจัยของสถาบันฯ ลงพื้นที่เพื่อหารืองานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสู่ชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ กรรมการผู้จัดการโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว เกี่ยวกับการปลูกและกระบวนการผลิตกาแฟในวังน้ำเขียว และพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกกาแฟ โดยเน้นการปลูกแบบอินทรีย์ และได้รับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และพื้นที่ใกล้เคียง คือ สายพันธุ์อาราบิก้า คาติมอร์ ซึ่งมีจุดเด่นคือ “หอม ฉุน ละมุนลิ้น” อีกทั้งวิสาหกิจชุมชนนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกาแฟ เช่น ยาสระผม ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า สบู่ และอื่นๆ นอกจากนี้ มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย
จากการหารือโจทย์วิจัยและพัฒนาในเบื้องต้น สถาบันฯ มีเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคั่วเมล็ดกาแฟให้ได้สารสำคัญและคาเฟอีนเพิ่มขึ้นได้ โดยมีเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (FTIR) เพื่อวิเคราะห์สารสำคัญและสารอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต อีกทั้ง เทคนิคการถ่ายภาพโครงสร้างสามมิติเอกซเรย์โทโมกราฟี (X-ray Tomographic Microscopy) เพื่อศึกษาโครงสร้างเมล็ดกาแฟก่อนคั่วและหลังคั่ว นำไปสู่การออกแบบและพัฒนาเครื่องคั่วกาแฟ ให้เมล็ดกาแฟยังคงคาเฟอีนในปริมาณสูงได้ ซึ่งจะมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต่อไปในอนาคต