บทความก่อนหน้า : “ตุ๊กตุ๊ก” รถเครื่องสามล้อไทย พัฒนาสู่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับธุรกิจไทย SME
การทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต้นแบบของสมาคมฯ มีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ ดังต่อไปนี้
- ศึกษาข้อมูลและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุณลักษณะ และการใช้งานของรถตุ๊กตุ๊ก รวมถึงต้นทุนและราคาขาย หากมีศักยภาพในการตลาดดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
- จัดหารถตุ๊กตุ๊กเพื่อทำต้นแบบ โดยนำมาศึกษาโครงสร้าง ระบบขับเคลื่อน ระบบเบรค ฯลฯ
- ตรวจสอบสภาพเพื่อหาจุดปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีสภาพที่ดี และปลอดภัยในการใช้งาน
- ปรับปรุงสภาพรถตุ๊กตุ๊ก แชสซี และตัวถังให้รถตุ๊กตุ๊กอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัย
- ออกแบบ ติดตั้ง มอเตอร์ ชุดควบคุม แบตเตอรี่และระบบไฟฟ้ากับโครงสร้างรถตุ๊กตุ๊กเดิม
- เลือกมอเตอร์ และชุดควบคุม แบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับงบประมาณ และความต้องการใช้งาน
- ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์มอเตอร์ และชุดควบคุมแบตเตอรี่กับรถตุ๊กตุ๊ก
- เดินสายไฟรวมทั้งหมด เก็บรายละเอียด และสายไฟทั้งหมด
- ทำสี และเก็บรายละเอียดงานโครงสร้าง งานเหล็ก หลังคา สี ติดตั้งส่วนประกอบต่างๆ เช่น เบาะ กระจก ฯลฯ
- ทดสอบใช้งานและเก็บข้อมูลการทดสอบใช้งานตรวจสอบรายละเอียด พิจารณาต้นทุนรวมทั้งหมด ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบการลงทุนใหม่กับการดัดแปลง ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์
- คำนวณต้นทุนในการดำเนินการ และตรวจสอบเปรียบเทียบกับต้นทุนเบื้องต้นในขั้นตอนที่ 3 แล้วดำเนินการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก และส่งมอบให้กับลูกค้า
ขั้นตอนในการดำเนินงานกว่าจะมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าหนึ่งคัน รถตุ๊กตุ๊กหรือรถสามล้อเครื่องที่หลายคนเห็นกันจนชินตา และเป็นซิกเนเจอร์รถรับจ้างของเมืองไทยที่ชาวต่างชาติต้องเรียกใช้บริการนั้น กว่าจะมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้หนึ่งคันนั้นมีรายละเอียดในการดัดแปลง ดังนี้
- ศึกษาข้อมูลและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ผู้ใช้งานรถตุ๊กตุ๊กที่บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2560 โดยมีรายละเอียดได้แก่ “รถยนต์รับจ้างสามล้อและรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จะต้องมีกำลังพิกัด (Rated Power) ของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” ปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กมีให้บริการเพียงขนส่งสาธารณะที่จำนวนรถไม่เพิ่มขึ้น หรือนิติบุคคลที่ให้บริการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขนส่งเฉพาะ
- จัดหารถตุ๊กตุ๊กเพื่อทำต้นแบบ รถตุ๊กตุ๊กต้องมีสภาพดีเพื่อสามารถทำการดัดแปลงได้ง่าย
- ตรวจสอบสภาพ ตรวจสอบสภาพอย่างละเอียดเพื่อประเมินชิ้นส่วนที่จะต้องเปลี่ยน รวมถึงต้นทุนในการเปลี่ยนชิ้นส่วน จากการตรวจสอบสภาพรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบมีสภาพเก่ามาก ชิ้นส่วนเหล็กกระจังหน้าและกระบะผุมาก สูญเสียความมั่นคงแข็งแรง จำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่านี้ เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัย ประเมินราคาเบื้องต้น เพื่อให้เห็นต้นทุนก่อนการดัดแปลง และจัดทำแผนการดำเนินการตามระยะเวลา เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ
- ปรับปรุงสภาพรถตุ๊กตุ๊ก ถอดชิ้นส่วนที่เสียหายออก ทำความสะอาดแชสซีและเตรียมสีพื้นกันสนิม และติดตั้งกระบะและกระจังหน้าของรถตุ๊กตุ๊ก แล้วจึงทำสีพื้นเพื่อกันสนิม
- เลือกมอเตอร์ และชุดควบคุม แบตเตอรี่ ให้เหมาะสม เลือกมอเตอร์กระแสสลับขนาด 5kW 72V ตามข้อกำหนดของประกาศกรมการขนส่งทางบก คำนวณหาความเร็ว เลือกมอเตอร์ และชุดควบคุมตามตัวอย่างที่ใช้ ซึ่งมีความเร็วรอบ 3,000-6,000 Rpm แรงบิดสูงสุด 15.9 Nm อัตราทดเฟืองท้าย 1:6.4 รัศมีล้อ 25 ซม. ความเร็วในกรณีไม่มีโหลดจะเป็น 44-73 กม./ชม. หากประสิทธิภาพการถ่ายทอดกำลังเป็น 95% แรงขับเคลื่อน (6.4×15.9x.9/.25) 366 N
- ออกแบบ ติดตั้ง มอเตอร์ ชุดควบคุม แบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้า ในขั้นตอนนี้จะเป็นการออกแบบ และทดสอบติดตั้งระบบไฟฟ้า มอเตอร์ ชุดควบคุม และแบตเตอรี่ LiFePo4 แบตเตอรี่มีจำนวน 2 ลูก ลูกที่ 1 ติดตั้งในบริเวณกลางแซสซีรถตุ๊กตุ๊ก ลูกที่ 2 เนื่องจากมีขนาดพื้นที่จำกัดหากวางแบตเตอรี่ที่พื้นที่วางเท้าคนขับจะทำให้มีพื้นที่วางเท้าเหลือน้อยมาก จึงต้องนำแบตเตอรี่ใส่ไว้ในกรอบเหล็กบริเวณที่นั่งคนขับ และติดตั้งชุดควบคุมในบริเวณแบตเตอรี่ที่ใต้ที่นั่งคนขับเพื่อความง่ายในการดูแลรักษา
- ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์มอเตอร์ และชุดควบคุม แบตเตอรี่ กับรถตุ๊กตุ๊ก ระบบไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นระบบไฟฟ้าขนาด 72V สำหรับระบบขับเคลื่อน และผ่านอินเวอร์เตอร์เพื่อเปลี่ยนให้เป็น 12V สำหรับระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำเพื่อใช้ในรถตุ๊กตุ๊ก ทดสอบการทำงานเพื่อสังเกตการทำงานร่วมกันของระบบทั้งหมด ทั้งมอเตอร์ ชุดควบคุมมอเตอร์ ล้อ ระบบเบรค ระบบไฟฟ้า
- เก็บรายละเอียดงานระบบไฟฟ้ารวมทั้งหมด เมื่อติดตั้งงานระบบไฟฟ้ารวม ทั้งระบบไฟฟ้าหลักเพื่อการขับเคลื่อน และระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ จำเป็นต้องมีการปรับแต่งความยาวของสายไฟทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับโครงสร้างของรถตุ๊กตุ๊ก รวมไปถึงการติดตั้งระบบสวิทช์ หลอดไฟ ซึ่งจำเป็นต้องจัดสายไฟใหม่ พร้อมทั้งการทดสอบการทำงานของระบบขับเคลื่อน
- ทำสี และเก็บรายละเอียดงานโครงสร้าง ถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเพื่อทำสี โดยเริ่มจากขัดสนิม ขัดสีพื้น เตรียมสีพื้น พ่นสีจริง และประกอบชิ้นส่วนต่างๆ กลับเข้าตำแหน่งเดิม พร้อมทดสอบระบบไฟฟ้าขับเคลื่อน และระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำว่าทำงานตามการออกแบบหรือไม่ ตรวจสอบการทำงานของระบบเบรค เบรคมือ และการทำงานในขณะใช้งาน
(อ่านต่อฉบับหน้า เรื่อง ทดสอบใช้งาน และเก็บข้อมูลการทดสอบใช้งาน)
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ผศ. ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมธุรกิจยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย