ปีพ.ศ.2564นี้ หลายองค์กรต่างออกมาประกาศเจตนารมณ์ดำเนินธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นกลุ่มทรู เป็นอีกหนึ่งเอกชนไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยริเริ่มโครงการ “Say No to Plastic Bottles” ลดการใช้พลาสติกในบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าสร้างเครื่องผลิตน้ำดื่มคุณภาพสูง RO Water Plant ภายในอาคารทรู ทาวเวอร์ ที่จะเปิดให้พนักงานนำขวดมาเติมน้ำดื่มที่สะอาด ถูกสุขอนามัย แทนการใช้ขวดพลาสติก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มสมดุลให้กับโลก พร้อมเดินหน้าก้าวสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนในปีพ.ศ.2573 ของกลุ่มทรู
หลายโครงการที่กลุ่มทรูดำเนินการมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ซีพี ร้อย รักษ์โลก” ที่ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ครบ
10 ล้านต้นภายในปีพ.ศ.2573 หรือแม้แต่การเลือกใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทั้งระบบปรับอากาศ การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน เจาะช่องบันไดระหว่างชั้นสำนักงาน เปลี่ยนระบบลิฟต์ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารทรู ทาวเวอร์ ได้ 30% อีกทั้งติดตั้งเครื่องรีไซเคิลขยะเป็นปุ๋ย ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ทุกแนวทางเหล่านี้ล้วนตอกย้ำให้เห็นว่า ทรู มุ่งมั่นสร้างสรรค์โครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการ ลด ละ เลิก การสร้างขยะที่เกิดจากพลาสติก เพื่อรักษาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในองค์กร
ขจร เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนขององค์กรว่า เป้าหมายสำคัญของทรู นอกจากจะพยายามสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมุ่งเน้นนโยบาย Net Zero Carbon โดยเฉพาะเรื่องการลดใช้พลาสติก ซึ่งกลุ่มทรู ตั้งเป้าลดการนำขวดพลาสติกเข้าอาคารให้มากที่สุด และจะต้องให้เหลือศูนย์ ภายในเดือนมิถุนายนปี 2565 ในที่สุด จึงคิดติดตั้ง Refun Machine หรือ ตู้รีฟัน ชั้นล่างภายในอาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก สำหรับนำขวด PET พลาสติกใส มาหยอดคืนที่ตู้ เพื่อให้เครื่องตรวจสอบคิดเป็นแต้มสะสม เปลี่ยนการทิ้ง เป็นพลังสร้างสรรค์ ทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น ในพื้นที่ที่คุ้นเคย สนุกมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นแต้มสะสม ไปแลกของรางวัลต่างๆ และสำหรับขวดเหล่านั้นจะได้รับการนำไปย่อยสลายอย่างถูกวิธีต่อไป
เมื่อกระบวนการผลิต การใช้งาน และทำลาย “ขวดน้ำพลาสติก” กลายเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในบรรยากาศ ดังนั้นหากจะยับยั้งการปล่อยก๊าซนี้ได้ ก็จำเป็นต้องร่วมกันหาวิธีการลดการใช้พลาสติกภายในองค์กรหรือภายในสำนักงานให้ได้เสียก่อน เพราะจากสถิติในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขยะประเภทขวดพลาสติกในอาคารทรู ทาวเวอร์ มีจำนวนเฉลี่ยปีละ 400,000 ขวด ซึ่งเป็นยอดการใช้งานอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันจากประสบการณ์ดื่มน้ำจากขวดแก้วแทนขวดพลาสติกตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนของขจร พบว่าเมื่อคำนวณแล้วผู้บริหารและคนในครอบครัวมีส่วนในการช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้ถึง 21,900 ขวดเลยทีเดียว”
“คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะยกเลิกการนำเข้าขวดพลาสติกมาในตึก เพราะทุกคนยังต้องการบริโภคน้ำดื่มที่มีคุณภาพ และสะอาดปลอดภัยอยู่ จึงเป็นที่มาของการสร้าง RO Water Plant หรือโครงการผลิตน้ำดื่มที่คุณภาพสูงด้วยกระบวนการกรองน้ำคุณภาพสูง การันตีได้มาตรฐาน NSF HACCP และอย. ซึ่งเป็นการใช้ระบบการกรองน้ำแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำกลั่น มีความบริสุทธิ์สูง พนักงานทุกคนสามารถใช้บริโภคได้อย่างมั่นใจสูงสุด” กรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว
ขจร กล่าวต่อว่า ทรูมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วน จึงทุ่มเงินลงทุนมากถึง 10,000,000 บาทสำหรับโครงการนี้ โดยเลือกใช้อุปกรณ์มาตรฐานสูง และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างเครื่องผลิตน้ำ RO + UV ด้วยกำลังการผลิต 24,000 ลิตรต่อวัน ผ่านมาตรฐาน NSF / ASME BPE ติดตั้งในห้องปลอดเชื้อ Class 100,000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ติดตั้งภายในตึกทรู ทาวเวอร์ ชั้น 14 โดยใช้ท่อสแตนเลส 316L ซึ่งเป็นเกรดทางการแพทย์สำหรับจ่ายน้ำไปยังตู้กดน้ำมากกว่า 60 จุดกระจายทั่วทุกชั้น การลงทุนโครงการผลิตน้ำดื่มนี้
ต้องยอมรับว่ามีมูลค่าที่สูง แต่คุ้มค่าในการลงทุนมาก เพราะเราอยากให้สิ่งที่ดีที่สุด จึงคัดสรรแต่สิ่งที่มีมาตรฐานสูงเพื่อมอบให้แก่เพื่อนพนักงาน เพื่อสุขภาพของพนักงานชาวทรู และยังเป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยโลกของเรา คนละไม้คนละมือ ทั้งนี้ นอกจากโครงการ RO Water Plant จะช่วยทำให้พนักงาน สามารถลดการใช้พลาสติกได้แล้ว ยังมองการณ์ไกลถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ รวมทั้งกิจกรรมหยุดยั้งภาวะโลกร้อนอื่นๆ มาเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วไป พร้อมวางแนวทางการแบ่งปันความรู้สู่ภายนอกผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือรูปแบบอินโฟกราฟิกเพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างแรงจูงใจให้องค์กรอื่นๆ ปฏิบัติตาม ตลอดจนช่วยเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ขยายสู่ระดับนานาชาติอีกด้วย