ทิศทางการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์จะลดลง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีจัดสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์” เพื่อสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูดต้องในเรื่องการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์ ในอนาคตจะมีทิศทางการใช้ลดลง แล้วหันไปใช้วัสดุทดแทนพลาสติกที่ใช้นาโนเทคโนโลยีมาร่วมในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการนำไปใช้บรรจุอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาคุณภาพ คงความสดความปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ตลอดเส้นทางการขนส่งและมีอายุอยู่บนชั้นวางได้นานที่สุด ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้ใช้ผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การผลิตบรรจุภัณฑ์

นำเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงมาใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพอนามัย

รศ. พล.ต. ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง มีความตระหนักในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคตมาใช้ เช่น 3D Printing, Robotics และ Machine Learning เพื่อลดค่าใช้จ่าย สร้างความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสังคม สุขภาพอนามัยของผู้บริโภคร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิต ผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติกควรตระหนัก เตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และความเข้าใจในเรื่องนาโนเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติก และมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล

ทิศทางการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ในอนาคตมีแนวโน้มลดลง

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกมีแนวโน้มที่ลดลง แต่พลาสติกก็ยังเป็นวัสดุสำคัญสำหรับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านนาโนเทคโนโลยี ที่ช่วยให้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการยืดอายุอาหารและผลิตภัณฑ์ดีขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ทำให้ทิศทางการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ยังมีโอกาสเติบโตได้ในเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันการใช้พลาสติกยังมีอยู่ในแทบทุกธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพ 3. พลังงาน และ 4. การท่องเที่ยว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐบาลที่ดูแลมาตรฐานการใช้และออกกฎหมายควบคุมต้องเข้มงวดมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืนตามคุณสมบัติหลัก 3R ประกอบด้วย Reduce ลดการใช้ คิดก่อนใช้ Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำใช้แล้วใช้อีก และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อก่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษ แต่การกำจัดขยะพลาสติกยังเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น นาโนเทคจึงได้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการขยะพลาสติก โดยอาศัยงานวิจัยและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดค้นนาโนพลาสติกที่จะย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ลดสารตกค้างต่างๆและมองหาวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างไรให้คุ้มค่า โดยเฉพาะในเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และปรับเปลี่ยนการลงทุนให้ไปใช้วัสดุทดแทนพลาสติกที่มีราคาสูงกว่าในการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต

เผยปี ’62 ไทยใช้พลาสติกสูงถึง 9 ล้านตัน

ดร.วีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มในการใช้พลาสติกนั้น มีการเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี เมื่อย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการใช้เม็ดพลาสติกในประเทศไทยเพื่อนำมาผลิตพลาสติกขึ้นรูปในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สูงถึง 6.2% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2562 มีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น 2.5% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ 2.5 ล้านตัน ที่เหลือประมาณ 6.5 ล้านตัน ผลิตเองภายในประเทศแล้วส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่ใช้ในด้านการก่อสร้างแพ็กเกจจิ้งต่างๆ และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นต้น สร้างรายได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.28% ของ GDP ของประเทศ ซึ่งการผลิตพลาสติกเพื่อขึ้นรูปสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในปัจจุบันต้องมีการพัฒนาพลาสติกให้สอดรับกับมาตรฐานสากลที่กำหนด เช่น มาตรฐาน DIN (Deutsches Institut fur Normung) มาตรฐาน JIS (Japanese Industrial Standards) มาตรฐาน ASTM (American Society for Testing and Materials) มาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) เป็นต้น

สำหรับมาตรฐาน ISO ของพลาสติกในประเทศไทยนั้น แบ่งย่อยมาตรฐานออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ 1. เกี่ยวกับเม็ดพลาสติก ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการผลิต 15% 2. วิธีการทดสอบเนื้อพลาสติก 30% เช่น ความแข็งแกร่งในเชิงกล ความต้านทานแรงกระแทก เน้นไปในการใช้และการย่อยสลายรวดเร็วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. Products เกี่ยวกับพลาสติก 55% โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้ามารับรองมาตรฐานในทุกๆ กระบวนการผลิตที่จะเกิดขึ้น เมื่อตรวจสอบแล้วว่าได้มาตรฐานจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รับรองคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์พลาสติกตามเงื่อนไข ซึ่งมีแนวโน้มในการผลิตพลาสติกที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานนาโนเทคโนโลยีที่นักวิจัยพัฒนาคิดค้นเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ มากขึ้น ตามโจทย์รักษ์โลกของทุกประเทศที่ทำธุรกิจพลาสติกต้องปรับเปลี่ยนการใช้งานพลาสติกในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยในประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีที่คิดค้นได้มาใช้ในการพัฒนาพลาสติกเช่น Polymer Nanocomposite, Nano Coating และ Nanoencapsulation เป็นต้น โดยคำนึงถึงเรื่องราคาความสะดวกรวดเร็ว และคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถนำสินค้าและผลิตภัณฑ์พลาสติกของผู้ประกอบการไทยขายได้ในตลาดทั่วโลก

ชี้อนาคตนาโนเทคโนโลยีมีบทบาทต่ออุตสาหกรรม-ภาคธุรกิจหลากหลายสาขา

ดร.เวฬุรีย์ ทองคำ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันแทบทุกอุตสาหกรรมมีการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกไปใช้งานตามการขยายตัวทางธุรกิจมากขึ้น ดังนั้นการคิดค้นนาโนเทคโนโลยีรองรับการใช้งานจึงต้องมีการพัฒนางานวิจัยที่มีอยู่เดิมและงานวิจัยใหม่ๆ รองรับเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ใช้งานแล้วมีความปลอดภัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยเป็น Hub ทางด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน จึงจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารส่งจำหน่ายยังต่างประเทศและภายในประเทศไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากภายนอก และป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อมารับประทาน ซึ่งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาสภาพภายในบรรจุภัณฑ์ให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เช่น ซองใส่สารดูดความชื้นที่บรรจุมาพร้อมกับขนมในกล่อง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ผลิตใช้เพื่อคงสภาพภายในบรรจุภัณฑ์ให้ปราศจากความชื้น แต่วัสดุพลาสติกธรรมดาจะป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่ต้องมีการวิจัยขจัดปัญหาที่เกิดในกระบวนการผลิตให้หมดไปในอนาคตเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้งานจริงแล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรแปรรูป แต่ผู้ผลิตนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์มาใช้เพียงบางส่วนเพื่อรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจและพึงพอใจของผู้บริโภคมากขึ้น

นาโนเทคโนโลยี

“ในอนาคต นาโนเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ได้หลากหลายสาขาและมีโอกาสทำให้เกิดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์สูง สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มเติมได้มากขึ้น” ดร.เวฬุรีย์ กล่าว


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 100 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563 คอลัมน์ Report โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save