กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค เปิดเวทีพูดคุยเกี่ยวกับ “นวัตกรรมซิงก์ไอออนฆ่าเชื้อโรค: ตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” โดยมี ธนิชญา ชินศิรประภา รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง สุดชาย สิงห์มโน ตัวแทนจากห้างแสงทองซุปเปอร์เซนเตอร์ พร้อมด้วยธนากร ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด และดร.วรายุธ สะโจมแสง นักวิจัยนาโนเทค ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์และประสบการณ์การใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในจังหวัดระยอง
นำองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์สุขภาพการแพทย์ ภายใต้ BCG
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า งานวิจัยที่ใช้แก่นความรู้เรื่องของนาโนเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพการแพทย์ ภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของประเทศ ซึ่งศาสตร์นาโนเทคโนโลยีเป็นการมองลึกลงไปในระดับโมเลกุล ระดับนาโนเมตร เป็นศาสตร์เล็กที่ไม่เล็ก เพราะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ซึ่งมีประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ งานด้านสมุนไพรไทยที่ตอบแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 โดยนาโนเทคใช้เทคโนโลยีการกักเก็บ/ห่อหุ้มสารสกัดหรือสารออกฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม สามารถนำส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่สามารถดูดซึมได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันเมล็ดงาม้อน
“มหาวิกฤต COVID-19 เป็นความท้าทาย ไม่เฉพาะของเรา แต่ทั้งโลก นาโนเทคเอง พยายามทุ่มเททำงานเพื่อตอบโจทย์ COVID -19 ดังเช่น สารเบนไซออน ซึ่งพัฒนาจากเทคโนโลยีนาโนคีเลตที่มาจากซิงค์ไอออน ที่มาจากอาหารเสริมสัตว์ โดยมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค รวมถึงงานวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย” ดร.วรรณี กล่าว
หอการค้าจังหวัดระยอง รวมพลังภาครัฐจัดกิจกรรม สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว – คนในพื้นที่รับมือ COVID-19
ธนิชญา ชินศิรประภา รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ โอกาสที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวง่ายและสะดวก ดังนั้น ระยองจึงเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ที่เข้าถึงง่ายทั้งวันหยุดระยะสั้น ระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทะเล สวนผลไม้ หรือแหล่งเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจของระยองจึงมีจุดเด่นเป็นแหล่งธรรมชาติ ทั้งทะเล ภูเขา และเกษตร ไม่ใช่แค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้มีคนเดินทางมาที่ระยอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อดูงาน
“ภาพรวมการท่องเที่ยวของระยองในปีพ.ศ. 2562 ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 การท่องเที่ยวของระยองดีมาก มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านคนโดยกว่าครึ่งหรือ 1.6 ล้านอยู่ที่เกาะเสม็ด แต่เมื่อเกิด COVID-19 นักท่องเที่ยวเหลืออยู่เพียง 20% ที่เกาะเสม็ด ส่วนในตัวเมือง เหลือไม่ถึง 10% ดังนั้น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 คนในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ต่างพยายามรักษามาตรฐานของพื้นที่ของตนให้พร้อม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทย ทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลและประเทศอีกด้วย” ธนิชญา กล่าว
พร้อมกันนี้ได้ชี้ว่าขณะนี้ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 3 แต่สำหรับระยอง นับเป็นระลอก 4 เราเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทบจะเดือนเว้นเดือน ดังนั้น หอการค้าจังหวัดระยองได้ร่วมกับภาครัฐจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้มีความมั่นใจ และกล้าที่จะใช้จ่าย
นำนวัตกรรมเบนไซออนไปทดลองใช้ฉีดพ่น พร้อมต่อยอดนำผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในห้าง
สุดชาย สิงห์มโน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ห้างแสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า การค้าปลีก เป็นชีวิตประจำวันของคนเรา ด้วยระยองมีคนท้องถิ่นราว 7 แสนคน มีคนที่มาทำงานอีกราว 8 แสนคน ดังนั้น เมื่อ COVID-19 มา นักท่องเที่ยวหาย กลุ่มผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ก็กระทบ รวมมาถึงค้าปลีก ที่โดนผลกระทบเช่นกัน เพราะเมื่อคนมีรายได้น้อย กำลังซื้อก็น้อยลง แต่ก็ยังมี เพราะแม้เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป เรายังคงมีกลุ่มคนที่อยู่ในระยอง
“เรามีโอกาสได้รู้จักกับทีม สวทช. และได้นำผลงานวิจัยมาช่วยภาคธุรกิจของจังหวัดระยอง ผ่านทางหอการค้าจังหวัดระยอง โดยหนึ่งในนั้นก็มีเบนไซออน ซึ่งก็ได้นำไปทดลองใช้ฉีดพ่น เช็ดทำความสะอาด ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เขาใช้กันปกติ โดยไม่มีกลิ่นกวนใจ ก็น่าสนใจ และต่อยอดนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเบนไซออนไปวางจำหน่ายในห้าง รวมถึงมีการฉีดพ่นที่เทศบาล รวมถึงส่วนของห้องประชุมต่าง ๆ ของหอการค้าฯ อีกด้วย” สุดชาย กล่าว
ยูนิซิล กรุ๊ปรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนาโนเทคสู่ผลิตภัณฑ์เบนไซออน ตอบโจทย์ COVID-19
ธนากร ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์เบนไซออน กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีร่วมมือกับนาโนเทค และดร.วรายุทธ สะโจมแสง เจ้าของงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และมองเห็นโอกาส ด้วยมีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นพิษ เมื่อย่อยสลายแล้วสามารถเป็นปุ๋ย/อาหารสัตว์ได้ จึงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เบนไซออน ที่สามารถตอบโจทย์ของโรคระบาด โดยมีการนำไปใช้ในหลายพื้นที่ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน เทศบาล ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ สามารถตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ที่มีผลการทดสอบที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นวัตกรรมเบนไซออนใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเคมีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม – ปลอดภัย – ไม่มีกลิ่นฉุน
ดร.วรายุธ สะโจมแสง นักวิจัยนาโนเทค ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ซึ่งวิจัยพัฒนาสารเบนไซออน ซึ่งพัฒนาจากเทคโนโลยีนาโนคีเลตที่มาจากซิงค์ไอออน ที่มาจากอาหารเสริมสัตว์ กล่าวว่า นวัตกรรมเบนไซออนใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเคมี มีจุดเด่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ไม่มีกลิ่นฉุน สามารถใช้เป็นแร่ธาตุอาหารเสริมของทั้งคนและพืช โดยอาหารเสริมสามารถทานในรูปของคีเลต และเป็นธาตุอาหารรองของพืช สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อยาวนานกว่าแอลกอฮอล์ เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ท่ามกลางวิฤต COVID-19
นวัตกรรมดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากซิงก์ไออนเป็นแร่ธาตุอาหารเสริม เมื่อมีการชะล้างสู่สิ่งแวดล้อมลงดินและน้ำ จะมีแร่ธาตุเป็นอาหารเสริมของพืช ไม่ส่งผลกระทบต่อค่า pH ความเป็นกรดด่างของน้ำแต่อย่างใด เหมาะกับสภาพพื้นผิว ประเภทไม้ ที่จับประตู พลาสติก รวมทั้งโลหะโดยป้องกันการกัดกร่อน ทั้งนี้หลังจากผสมน้ำในอัตราส่วนเบนไซออน 1 : 25 และฉีดพ่นเรียบร้อยแล้ว จะสามารถอยู่บนพื้นผิวได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยไม่มีกลิ่นรบกวนแต่อย่างใด
เผยการวิเคราะห์ทดสอบ/มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนวัตกรรมไทย
เมื่อพูดถึงประเด็นของ “นวัตกรรม” ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ดร.วรรณี มองว่า ความเชื่อมั่นในสภาวะวิกฤตต้องเกิดจากความร่วมมือและความเชื่อมั่นของผู้วิจัยพัฒนา ที่ทำงานและพร้อมจะหยิบจับเอามาใช้ตอบโจทย์ในภาวะวิกฤตต่าง ๆ
“การนำนวัตกรรมไปใช้ จำเป็นต้องมีคนที่เชื่อเหมือนกันและนำงานวิจัยไปสู่ผู้ใช้ รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปสู่เชิงพาณิชย์ ให้โอกาสนวัตกรรมที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองไปใช้ และต้องการการสื่อสารให้คนรู้จักและเข้าใจ สิ่งสำคัญคือ ความรวดเร็วในการทำงานให้ทันสถานการณ์” ดร.วรรณี กล่าว
สำหรับการวิเคราะห์ทดสอบ/มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนวัตกรรมไทย อย่างโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure หรือ NQI) ที่เป็นอีก 1 ทัพใหญ่ที่เราต้องสร้างเพื่อให้เกิดมาตรฐานที่สามารถอ้างอิงผลและประสิทธิภาพให้กับนวัตกรรมไทย สำหรับผู้ใช้ทั้งในประเทศ และโอกาสในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ
นำนวัตกรรมมาใช้ในวิกฤตโรคระบาด สร้างความเชื่อมั่นที่ดีต่อภาคธุรกิจ – ท่องเที่ยวระยอง
ธนิชญา ชินศิรประภา มองว่า การนำนวัตกรรมมาใช้ในวิกฤต ถือว่าสำคัญมาก ระยองไม่มีเพียงนักท่องเที่ยว แต่มีคนที่มาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก การสร้างความมั่นใจให้บุคคลต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น
“คนไทยจำนวนมากมองว่า COVID-19 เป็นสิ่งที่น่ากลัวและพยายามวิ่งหนี แต่เราไม่ได้มองว่า เราจะอยู่กับมันอย่างปลอดภัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อธุรกิจไม่เพียงแค่การท่องเที่ยว แต่เป็นทั้งซัพพลายเชน ทุกคนต้องรู้ว่า วิกฤตมาแล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้มาประชุมสัมมนา การนำนวัตกรรมมาใช้สร้างความเชื่อมั่นจะมีผลที่ดีต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ทั้งนี้มีความภูมิใจที่ไทยมี องค์กรด้านเทคโนโลยีอย่างสวทช. ที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมให้คนไทย” ธนิชญา กล่าว
แนะภาครัฐนำเสนอนวัตกรรม พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ช่วยให้คนไทยเข้าถึงนวัตกรรมไทยได้กว้างขวางขึ้น
ด้านผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้นวัตกรรมเบนไซออนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ธุรกิจ สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าอย่างห้างแสงทองซุปเปอร์เซ็นเตอร์ อย่างสุดชาย สิงห์มโน มองว่า สิ่งสำคัญคือ การเข้าถึงนวัตกรรมไทย ซึ่งหากตนไม่รู้จัก สวทช. และไปเจอผลิตภัณฑ์แบบนี้ จะเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร จะติดต่อใคร จะใช้งานอย่างไร ดังนั้นจึงมองว่า ภาครัฐควรมีการรวบรวมข้อมูลที่ผู้ประกอบการหรือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล โดยที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่าง ๆ กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอยตามปกติ
“วิกฤต COVID -19 ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเปลี่ยนไป ช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่คนยังอยากที่จะออกมาเลือก ออกมาหยิบจับซื้อของ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ต้องการข้อมูลมาสนับสนุน ดังนั้น หากมีหน่วยงานภาครัฐที่นำนวัตกรรมมานำเสนอ มีการสนับสนุนเป็นองค์รวม จะสร้างความเชื่อมั่น และเปิดโอกาสให้เข้าถึงนวัตกรรมไทยได้อย่างกว้างขวางขึ้น สามารถเดินหน้ากันได้ทั้งองคาพยพ” สุดชาย กล่าว
ที่มาของนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลลัพธ์หรือผลการทดสอบ ทดลองใช้ที่หากนำเสนอ ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เอื้อให้เกิดการสื่อสารออกไปในวงกว้าง สร้างความเข้าใจ ให้คนกล้าที่จะลองใช้ของใหม่ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน โปรโมชั่นและการตลาดที่ตอบความต้องการของผู้บริโภคก็จะสร้างความคุ้นชินให้ผู้บริโภค มั่นใจ นำไปสู่ความพร้อมที่จะอยู่กับ COVID -19 อย่างปลอดภัย