บทบาทอุตสาหกรรมต่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน


จากกระแสความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และการหมดลงไปของทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงนับตั้งแต่ ปี ค.ศ.2015 ที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาของโลก หรือที่เรียกว่า “Global target, National action” กล่าวคือเป็นเป้าหมายของโลกเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี ค.ศ.2030 ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงสังคมเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นกับการขับเคลื่อนสีเขียวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว บทความนี้ขอนำเสนอ 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ และใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างโอกาสทางการตลาด การค้า ไปจนถึงการแข่งขันได้ในอนาคต นั่นก็คือ เป้าหมายที่เรียกว่า “SDG 12” หรือ “การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production)”

หัวใจหลักของ SDG 12 ก็คือ “ความต้องการผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อการบริโภคและการผลิต” ดังนั้นตัวชี้วัดความสำเร็จของ SDG 12 จึงมีหลายตัวชี้วัดที่เน้นด้านประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการลดของเสียหรือการสูญเสียในการผลิตและการบริโภค เช่น ตัวชี้วัด Material footprint และตัวชี้วัดการใช้วัสดุภายในประเทศ (Domestic material consumption) รวมถึงดัชนีการสูญเสียอาหาร (Food loss index) เป็นต้น ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอ 3 กลยุทธ์หลักที่ภาคอุตสาหกรรมควรดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย

(1) “Decoupling” กล่าวคือแนวคิดของการผลักดันให้เกิดการการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือกำไรของธุรกิจในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (ดังตัวอย่างรูปที่ 1) ซึ่งระดับของการ Decoupling มีทั้งระดับที่เรียกว่า “Absolute Decoupling” กล่าวคือ เศรษฐกิจโตขึ้นขณะที่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสวนทางลดลง หรือระดับ “Relative decoupling” กล่าวคือ เศรษฐกิจโตสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าอัตราการเติบโตของผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ทรัพยากร อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้ Absolute Decoupling ก็มักเป็นสิ่งที่ควรกำหนดเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า Relative decoupling โดยมีตัวอย่างของการ Decoupling แบบง่ายๆ เช่น การหารูปแบบการขนส่งที่สามารถขนส่งคนหรือสินค้าได้มากขึ้นณะที่การใช้พลังงานลดลง หรือกรณีของการผลิตพลังงานเช่นการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งการจะบรรลุตัวชี้วัดข้างต้นนี้ก็อาจต้องนำไปสู่มาตรการการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า เป็นต้น

(2) “Green Industry” หรือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว กล่าวคือ อุตสาหกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงไปถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันประเทศไทยได้มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวโดยหลายหน่วยงาน ดังเช่น การให้การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว “Green Industry Mark” ของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือการให้การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ “Eco Factory” ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (รูปที่ 2)

(3) “Eco-label” หรือฉลากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของการสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อใช้งานต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายรูปแบบทั้งที่เป็นแบบประเด็นเฉพาะ เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือฉลากสิ่งแวดล้อมที่มีเกณฑ์ประเมินทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันฉลากสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท กล่าวคือ ได้ประโยชน์จากการพัฒนาสินค้าที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ไปจนถึงการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 คือ ฉลากสิ่งแวดล้อมที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินและตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระที่มีความเป็นกลาง ว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด ทั้งนี้ข้อกำหนดฉลากสิ่งแวดล้อมนี้จะเน้นการป้องกันมลพิษที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยสำหรับประเทศไทยจะรู้จักกันในชื่อของ “ฉลากเขียว” ที่ดำเนินโครงการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 คือ ฉลากที่ผู้ผลิตเป็นผู้บ่งบอกเองว่าผลิตภัณฑ์ของตนชิ้นนี้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Self-declaration) โดยผู้ผลิตมักแสดงในรูปของข้อความหรือสัญลักษณ์ และมักต้องมีเกณฑ์หรือหลักฐานที่แสดงหรือชี้แจงต่อคนภายนอกว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแง่มุมใด เช่น ลดการใช้พลังงาน สามารถย่อยสลายได้ นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังตัวอย่างฉลาก PTT Green for life หรือ SCG eco value เป็นต้น

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 คือ ฉลากที่มีการแสดงข้อมูลผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental information) โดยอาศัยเครื่องมือการประเมินวัฏจักชีวิต (Life Cycle Assessment) ในการศึกษา และต้องมีการรับรองผลด้วยหน่วยงานกลาง ดังตัวอย่างฉลาก EPD ในสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการรับรองฉลากประเภทที่ 3 นี้อย่างเต็มรูปแบบ แต่มีฉลากสิ่งแวดล้อมที่อาจจัดได้ว่าใกล้เคียงและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ได้แก่ “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product)” ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ “ฉลากฟุตพริ้นท์การขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Footprint)” ที่ดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ถึงแม้ว่าโดยแท้จริงการบรรลุเป้าหมายของ SDG 12 นั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน แต่อย่างไรก็ตามก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่ภาคอุตสาหกรรมมักจะต้องเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวทางเพื่อมุ่งไปสู่การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนต่อไปสังคม ซึ่งผู้เขียนคิดว่าจากกลยุทธ์หลักทั้ง 3 ข้อข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับการนำไปใช้เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กรได้ต่อไป

ข้อมูลที่คุณอาจสนใจ


Source: คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ.ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เอกสารอ้างอิง

  • IRP (2017). Assessing global resource use: A systems approach to resource efficiency and pollution reduction. A Report of the International Resource Panel. United Nations Environment Programme. Nairobi, Kenya.
  • United Nations. (2019). Sustainable Development Goal 12: Ensure sustainable consumption and production patterns. https://sustainabledevelopment.un.org/sdg12 (accessed 12 August 2019)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save